Abstract:
จังหวัดราชบุรีมีปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยช่วงปี พ.ศ. 2557 – 2563 มีระดับ PM2.5 เฉลี่ยรายวันสูงกว่ามาตรฐานกรมควบคุมมลพิษเฉลี่ยปีละ 40 วัน ซึ่ง PM2.5 สามารถก่อให้เกิดโรคระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงระดับ PM2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพในจังหวัดราชบุรีมาก่อน การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับฝุ่นละออง PM2.5 รายวัน ในพื้นที่อำเภอเมืองราชบุรีกับการมารักษาด้วยโรคกลุ่มระบบการหายใจ และโรคกลุ่มระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่แผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลราชบุรี โดยการศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบอนุกรมเวลา ซึ่งใช้ข้อมูลระดับมลพิษอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาจากกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลเวชระเบียนของผู้ที่มาแผนกฉุกเฉินระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ถึง 30 เมษายน 2563 และวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้ Generalized Linear Model ระดับ PM2.5 PM10 O3 และ SO2 มีค่าเฉลี่ยและสูงสุดรายวันเกินมาตรฐาน โดย PM2.5 เฉลี่ยรายวันเกินมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษเฉลี่ยปีละ 37 ± 11 วัน และเกินมาตรฐานองค์การอนามัยโลกเฉลี่ยปีละ 137 ± 36 วัน ผู้ป่วยที่มาแผนกฉุกเฉินมีทั้งหมด 38,377 ครั้ง โดยเป็นโรคระบบการหายใจ 26,762 ครั้งและโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด 16,345 ครั้ง และในภาพรวมระดับ PM2.5 เฉลี่ยรายวันที่เพิ่มขึ้นทุก 10 µg/m3 สัมพันธ์กับอัตราส่วนอุบัติการณ์ (IRR) การมาโรงพยาบาลด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบเพิ่มขึ้น 1.06 เท่า (95% CI 1.01 - 1.11) ที่ 1 วันถัดไป โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้น 1.04 เท่า (95% CI 1.02 - 1.07) ที่ 6 วันถัดไป และกลุ่มอายุ 0 – 14 ปี และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวมีขนาดความสัมพันธ์ที่มากขึ้น จึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีมาตรการควบคุมแหล่งกำเนิด PM2.5 อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง และในช่วงเวลาที่ระดับมลพิษอากาศสูงขึ้น หน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรสื่อสารความเสี่ยงและให้คำแนะนำกับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงในการปฏิบัติตนเองเพื่อลดการสัมผัส PM2.5 และโรงพยาบาลควรเตรียมทรัพยากรเพื่อรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นด้วย