Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาถึงความเหนื่อยล้าและปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจำนวน 194 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน 2563 โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากแผนกผู้ป่วยนอก และที่คลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความเหนื่อยล้า แบบสอบถามภาวะทางสุขภาพกาย แบบสอบถามความเข้มแข็งในการมองโลก แบบสอบถามภาระในการดูแล และแบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม สถิติที่ใช้ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนาเพื่อนำเสนอลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง การแจกแจงจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมานใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรปัจจัยส่วนบุคคลกับความเหนื่อยล้า และใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุ เพื่อหาปัจจัยทำนายความเหนื่อยล้า โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเหนื่อยล้าโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 71.1 ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้แก่ ชนิดมะเร็งของผู้ป่วย ชนิดการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวนชั่วโมงที่ดูแลผู้ป่วย ลักษณะงานที่ช่วยดูแลผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วย ภาวะทางสุขภาพกาย ความเข้มแข็งในการมองโลก ภาระในการดูแล และการสนับสนุนทางสังคม อีกทั้งการศึกษายังพบว่า ปัจจัยชนิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การรักษาแบบประคับประคอง ชั่วโมงที่ให้การดูแลผู้ป่วย ภาวะทางสุขภาพกาย ปัจจัยภาระในการดูแล และปัจจัยการสนับสนุนทางสังคม ทั้ง 6 ตัวแปรสามารถทำนายความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ร้อยละ 45.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จำนวนชั่วโมงที่ให้การดูแลผู้ป่วยน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การลดลงของภาระในการดูแล การเพิ่มขึ้นของการรับรู้ภาวะทางสุขภาพกายของญาติผู้ดูแลรวมไปถึงการได้รับการสนับสนุนทางสังคม มีส่วนช่วยให้ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีความเหนื่อยล้าจากการดูแลผู้ป่วยน้อยลง ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลให้บุคลากรทางการแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแนวทางในการจัดการกับความเหนื่อยล้าและวางแผนในการช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไป