Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุขในการทำงานและสุขภาวะทางจิตของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด รวมถึงปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความสุขในการทำงานของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด ที่ทำงานในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จำนวน 230 คน โดยส่งแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 230 ฉบับ และได้รับแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์คืนเป็นจำนวน 193 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 83.91 เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน พ.ศ. 2563 ด้วยวิธีเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรตัวอย่างที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้าทั้งหมด เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความสุขใจในการทำงาน และแบบประเมินสุขภาวะทางจิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square, Logistic Regression และใช้ Pearson’s Correlation Coefficient ในการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างค่าระดับความสุขในการทำงาน กับระดับสุขภาวะทางจิต
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับความสุขในการทำงานอยู่ในระดับสูงร้อยละ55.8 ระดับปานกลางร้อยละ42.7 ระดับต่ำร้อยละ1.0 ระดับสูงมากร้อยละ 0.5 ค่าเฉลี่ยระดับความสุขในการทำงานเท่ากับ 3.55 คะแนน ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.45 และพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีระดับสุขภาวะทางจิตอยู่ในระดับสูงร้อยละ52.3 ระดับปานกลางร้อยละ28.5 ระดับต่ำร้อยละ19.2 ค่าเฉลี่ยระดับสุขภาวะทางจิตเท่ากับ 73.31 คะแนน ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 14.23 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความสุขในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < 0.05) ได้แก่ ความเพียงพอของรายได้ อายุงานที่น้อยกว่า 15 ปี ประเภทผู้ป่วยสารเสพติดที่มักจะบำบัดรักษา/ติดต่อด้วย อันได้แก่ การไม่ได้ดูแลผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดประเภท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน,กัญชา และ ใบกระท่อมเป็นหลัก รวมถึงระดับสุขภาวะทางจิตที่สูง ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้คำแนะนำ การจัดกิจกรรมส่งเสริมความสุขในการทำงานของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด หรือหาแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนความสุขของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติดอย่างเหมาะสมต่อไป