Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสุขภาพจิต ทักษะทางสังคม และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วิธีการศึกษา การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 408 ราย ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบตามเกณฑ์หรือแบบเจาะจง โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามทั้งหมดด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลด้านการทำงาน 2) แบบสอบสุขภาพทั่วไป 3) แบบสอบถามทักษะทางสังคม 4) แบบสอบถามความสุขในการทำงาน 5) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และ 6) แบบสอบถามเหตุการณ์ความเครียดใน 1 ปีที่ผ่านมา ทำการวิเคราะห์ปัจจัยระหว่างสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ และอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกเพื่อระบุปัจจัยทำนายสุขภาพจิตปกติของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.2) มีสุขภาพจิตปกติ โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของสุขภาพจิตเท่ากับ 2.52±3.43 พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินส่วนใหญ่ (ร้อยละ 46.8) มีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของทักษะทางสังคมเท่ากับ 78.84±27.64 ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตปกติ ได้แก่ อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี ทักษะทางสังคมระดับต่ำมากถึงต่ำ ความสุขในการทำงานระดับปานกลางถึงสูง การสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรหรือวัตถุสูง และเหตุการณ์ความเครียดใน 1 ปีที่ผ่านมาในระดับต่ำ (p<0.05) ปัจจัยทำนายสุขภาพจิตปกติของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ได้แก่ อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี และการสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรหรือวัตถุสูง (p<0.05) สรุปผลการศึกษา พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนใหญ่ มีสุขภาพจิตปกติและมีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี และการสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรหรือวัตถุสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตปกติชองพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน