Abstract:
วิธีการศึกษา : การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 195 ราย โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามทั้งหมดด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและลักษณะการทำงาน 2) แบบสอบถามด้านการปฏิบัติงานที่มีผลต่อความเครียดในงานของนักเทคนิคการแพทย์ จากแบบสอบถาม Occupational stress indicator ของคูเปอร์และคณะ 3) แบบสอบถามภาวะหมดไฟ (Burn out) Thai version of Maslach ทำการวิเคราะห์ปัจจัยระหว่างภาวะหมดไฟและปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ และอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกเพื่อระบุปัจจัยทำนายของภาวะหมดไฟในการทำงานของนักเทคนิคการแพทย์ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา : จากนักเทคนิคการแพทย์ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร 195 คน พบผู้ที่มีภาวะหมดไฟ 41 คน (ร้อยละ 21) เมื่อนำไปหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในการทำงานพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนผู้ที่มีรายได้มากมีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟน้อยกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย ตำแหน่งทางราชการที่มีความมั่นคงของสวัสดิการมีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟน้อยกว่า และจำนวนชั่วโมงในการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการที่มากมีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานมากกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ปัจจัยในการทำงานที่มีผลต่อความเครียดในการปฏิบัติงาน ด้านภาระงานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาวะหมดไฟในการทำงาน แม้ว่ามีปัจจัยด้านภาระงานที่ดีแต่ก็มีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้สูง ด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและการบริหารงานในหน่วยงานมีความสัมพันธ์เชิงลบกับภาวะหมดไฟในการทำงาน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สรุปผลการศึกษา : นักเทคนิคการแพทย์ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร มีภาวะหมดไฟในการทำงานร้อยละ 21 ปัจจัยส่วนบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ตำแหน่งทางราชการ และจำนวนชั่วโมงในการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ และปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดในการปฏิบัติงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องคือด้านภาระงาน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และด้านการบริหารงานในหน่วยงาน