Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องสถานการณ์ของความโกรธกับมุมมองเชิงพื้นที่ของผู้ขับรถยนต์ และการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพมหานครมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาอารมณ์โกรธ และการแสดงออกขณะที่โกรธของผู้ขับรถยนต์ภายใต้สถานการณ์ต่างๆบนท้องถนน มุมมองเชิงพื้นที่ของผู้ขับรถยนต์ภายใต้ภาวะอารมณ์โกรธ และความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์โกรธและการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์บนท้องถนนโดยอาศัยกรอบแนวคิดทฤษฎีสังคมวิทยาอารมณ์ ทฤษฎีการปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ แนวคิดการผลิตพื้นที่ มุมมองต่อพื้นที่ และแนวคิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสังเกตการณ์ขณะขับรถยนต์และสัมภาษณ์เชิงลึกโดยใช้กรณีศึกษาจำนวน 20 คน และระยะที่ 2 การสังเกตการณ์ผ่านกล้องบันทึกภาพในรถยนต์ โดยใช้กรณีศึกษาที่คัดเข้าจากระยะที่ 1 จำนวน 10 คน ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกและถ่ายทอดความคิดในสถานการณ์ธรรมชาติได้ดี ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เรื่องเล่าจากข้อความและภาพของกรณีศึกษาด้วยการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขับรถยนต์และบริบทต่างๆ
ผลการศึกษา พบว่า สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและพฤติกรรมที่เกิดจากการกระทำของผู้ขับรถยนต์มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพมหานคร โดยที่ความโกรธและการแสดงความโกรธของผู้ขับรถยนต์เกี่ยวข้องทางอ้อม ความโกรธที่เกิดขึ้นบนถนนประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก คือสถานการณ์ ตัวตน และสัญญะที่เกิดจากการการปฏิสัมพันธ์ที่มีผลในการเป็นตัวจุดชนวน เพิ่ม ลด หรือหยุดความโกรธได้ และมีองค์ประกอบรองคือมุมมองของพื้นที่ เพราะอารมณ์โกรธเป็นกระบวนการผลิตที่ถูกผลิตสร้างจากการใช้พื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้พื้นที่ถนนที่แตกต่างกัน การให้ความหมายของพื้นที่ที่แตกต่างกัน และการใช้รถใช้ถนนที่แตกต่างกันในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นของผู้ขับรถยนต์จนถูกผลิตสร้างจิตสำนึกในการใช้พื้นที่และการใช้รถใช้ถนนขึ้น ดังนั้นผู้ขับรถยนต์จึงมีการใช้ตัวตนของตนเองในการตีความ และตัดสินทั้งสถานการณ์และบุคคลอื่นในทุกพื้นที่ที่ใช้งานและแสดงตัวตนนั้นออกมาผ่านการกระทำที่ล้วนแสดงให้เห็นถึงบริบทบนท้องถนนของผู้ขับรถยนต์ในกรุงเทพมหานค