Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณ Kuta และ Sanur ในจังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งหลังจากที่ได้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่นนั้น รัฐบาลท้องถิ่นต้องพึ่งพาหรือหารายได้ด้วยตนเองมากขึ้น โดยการหารายได้ดังกล่าวอาจจะเป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายรัฐบาลมากเกินไป จึงส่งผลกระทบต่อทั้งตัวชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำหรับวัตถุประสงค์ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของการจัดสรรทรัพยากรน้ำในพื้นที่ท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย 2) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของตัวแสดงที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ 3) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบของกระบวนการของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่ใช้แก้ไขการจัดสรรทรัพยากรน้ำในพื้นที่ท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีสมมติฐานคือ การออกแบบเชิงสถาบัน (Institutional Design) ในการจัดการทรัพยากรน้ำ อันได้แก่ กระบวนการแสดงความคิดเห็นของชุมชน และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องที่สอดคล้องกับ deliberative democracy หรือการสร้างความสัมพันธ์ที่มีลักษณะที่เป็นแบบ Horizontal ซึ่งจะมีศักยภาพมากกว่าลักษณะที่เป็นแบบ Vertical มีแนวโน้มที่จะลดความขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรน้ำในพื้นที่ได้
สำหรับการเก็บข้อมูลผู้วิจัยได้ทำการลงพื้นที่เพื่อทำการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด 4 กลุ่ม อันได้แก่ 1) กลุ่มหมู่บ้าน/ชุมชน 2) กลุ่ม NGOs 3) กลุ่มรัฐบาลท้องถิ่นที่รับผิดชอบงานด้านทรัพยากรน้ำ และ 4) กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งบริเวณ Kuta และ Sanur จังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562
ผลการวิจัยพบว่าในบริบทของบริเวณ Kuta และ Sanur ในจังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าจะมีความไม่เสมอภาคในตอนเริ่มแรก แต่ผลประโยชน์ของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณที่ทรัพยากรน้ำขาดแคลนอย่างจริงจัง ก็ถูกเริ่มนำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่องในเวทีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน ดังนั้นจะตอบสมมติฐานได้ว่า องค์ประกอบที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรน้ำที่เท่าเทียมและทำให้ประชาชนในท้องถิ่นบริเวณ Kuta และ Sanur ในจังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซียสามารถเข้าถึงน้ำได้อย่างเท่าเทียม ไม่เกิดสภาวะการขาดแคลนน้ำ จะประกอบไปด้วย ประการที่ 1 การที่รัฐบาลท้องถิ่นรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ประการที่ 2 กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งที่มีลักษณะเป็น Deliberative democracy โดยประการที่ 1 และประการที่ 2 จะเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการน้ำ หรือ Water Management Committees (WMCs) และประการที่ 3 ความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจในการกำหนดนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ดังจะเห็นได้จากโมเดลความร่วมมือในการป้องกันน้ำใต้ดิน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น