Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความเป็นมาและจุดเริ่มต้นในการจัดพื้นที่ Coworking Space ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย (2) ศึกษาความเหมือนและความแตกต่างของ Coworking Space ของแต่ละมหาวิทยาลัย และ (3) ศึกษาบทบาทสำคัญของ Coworking Space ของมหาวิทยาลัยไทย ผ่านกรณีศึกษา 5 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเอกสาร การสังเกตการณ์ใน Coworking Space ทั้ง 5 แห่ง และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวนทั้งสิ้น 31 ราย ได้แก่ 1) ผู้รับผิดชอบระดับกระทรวง 1 ราย 2) ผู้บริหาร Coworking Space 5 ราย 3) เจ้าหน้าที่ประจำ 5 ราย 4) บุคลากรในมหาวิทยาลัย 10 ราย และ 5) บุคคลภายนอกที่เข้าใช้บริการCoworking Space 10 ราย
ผลการวิจัย มีดังนี้ (1) จุดเริ่มต้นของ Coworking Space ในมหาวิทยาลัยไทย ที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาใช้บริการ มาจากความต้องการให้มี Coworking Space เป็นพื้นที่กลางเพื่อใช้ในการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้มาใช้บริการ รวมถึงการสร้างให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ใน Coworking Space และความต้องการเชื่อมประสานระหว่างภาคมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน (2) Coworking Space ของแต่ละมหาวิทยาลัยมีทั้งความเหมือนและความต่าง จำแนกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ งบประมาณ รูปแบบการบริหารจัดการ และรูปแบบการให้บริการ ด้านงบประมาณพบว่ามหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ล้วนได้รับงบประมาณจากภายนอกทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเหมือนกัน แต่มีรูปแบบการบริหารงบประมาณที่แตกต่างและเฉพาะตัว และด้านรูปแบบการบริหารจัดการและรูปแบบการให้บริการ พบความแตกต่างโดยขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และอัตลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย และ (3) บทบาทสำคัญของ Coworking Space ของมหาวิทยาลัยไทย ได้แก่ การเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทั้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการ การเป็นพื้นที่กลางที่เชื่อมประสานระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และการเป็นพื้นที่ส่งต่อความรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา ไปจนถึงการส่งมอบความรู้สู่สังคมในรูปแบบที่ไม่มีค่าธรรมเนียม หรือมีค่าธรรมเนียมแต่เป็นจำนวนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับภาคเอกชน ทั้งนี้ผลการวิจัยทำให้ทราบว่าจุดเริ่มต้นและบทบาทของ Coworking Space ของมหาวิทยาลัยไทยมีความเฉพาะและแตกต่างไปจาก Coworking Space รูปแบบอื่น โดยเฉพาะในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัย