Abstract:
การวิจัยเรื่อง “ทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานในมุมมองของแต่ละรุ่นวัย: กรณีศึกษาบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา” มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาทัศนคติของพนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาต่อโครงการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโส ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการทำงานต่อของพนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น และเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาโครงการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโสของบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งหนึ่ง จำนวน 148 คน และผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการสัมภาษณ์จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบไปด้วยแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน การทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 1 กลุ่มการวิเคราะห์ความเป็นอิสระ 2 กลุ่ม การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบจำแนกทางเดียว และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ
ผลการวิจัย พบว่า 1) พนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมามีทัศนคติในระดับเห็นด้วยต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโส 2) อายุ สถานภาพสมรส ระดับรายได้ ภาวะสุขภาพ และภาวะการออมที่แตกต่างกัน ส่งผลให้บุคคลมีทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโสแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 สำหรับเพศ ระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน และการมีบุคคลภายใต้ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ไม่ได้ทำให้กลุ่มพนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมามีทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโสแตกต่างกัน 3) ปัจจัยทางด้านสังคมและวัฒนธรรม (society & culture) ประกอบไปด้วย สภาพแวดล้อมรอบตัว และสภาพทางเศรษฐกิจ มีอิทธิพลเชิงบวกต่อทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโส 4) ปัจจัยทางด้านการจัดการขององค์การ (organization management) ประกอบไปด้วย โอกาสก้าวหน้าในทางการงาน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานของผู้สูงอายุ และลักษณะของงาน มีอิทธิพลเชิงบวกต่อทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโส และ 5) ปัจจัยทางด้านความต้องการทางจิตใจและสังคม (psychological needs) ประกอบไปด้วย ความจำเป็นและความต้องการ และความสัมพันธ์ทางสังคมและการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม มีอิทธิพลเชิงบวกต่อทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโส สำหรับในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า พนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเห็นพ้องกันว่าโครงการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโสเป็นความพยายามที่ดีในการช่วยเหลือแรงงานสูงอายุ แต่ในการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้อาจมีอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขององค์การ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การที่จะต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานของพนักงานอาวุโส ดังนั้นหากมีการพิจารณาแล้วพบว่าองค์การจะยังได้รับผลประโยชน์จากการทำงานของพนักงานอาวุโสอยู่ องค์การหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับนโยบายการขยายอายุเกษียณการทำงานเพิ่มเติม และปฏิบัติตามอย่างเหมาะสม