Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยในสมัยรัฐบาลของนายจอห์น โฮเวิร์ด ระหว่าง ค.ศ. 2001-2007 โดยมุ่งศึกษานโยบายผู้ลี้ภัยผ่านแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยม การศึกษาพบว่าการต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลส่งผลต่อการดำเนินนโยบายผู้ลี้ภัย เพราะรัฐบาลสนับสนุนแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมที่เน้นความสำคัญที่ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม (Social Cohesion) เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย แทนที่จะสนับสนุนพหุวัฒนธรรมนิยมในแง่ของการยอมรับความหลากหลาย พหุวัฒนธรรมนิยมในออสเตรเลียหลังการก่อการร้ายจึงอยู่ในภาวะถดถอย รัฐบาลต้องการให้ประชาชนชาวออสเตรเลียยึดถือคุณค่าเดียวกันคือคุณค่าและค่านิยมของออสเตรเลีย และเห็นว่าชุมชนชาวมุสลิมเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถยอมรับคุณค่าของออสเตรเลียได้จนนำมาซึ่งการกีดกันผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่เดินทางมาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่าการกีดกันผู้ลี้ภัยของรัฐบาลนี้เป็นการเหยียดเชื้อชาติแบบใหม่ที่เลือกปฏิบัติจากเหตุผลด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้แนวทางพหุวัฒนธรรมที่ถดถอยลงเช่นนี้ และพบว่าแม้การกีดกันผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมจะสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศมุสลิมในอาเซียนแต่สุดท้ายแล้วออสเตรเลียก็สามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมือได้ โดยความร่วมมือที่เด่นชัดที่สุดคือการก่อตั้งกระบวนการบาหลีในฐานะกลไกระดับภูมิภาค