Abstract:
การศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ในโครงการฟื้นฟูเยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนชายขอบในสังคมเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนศึกษาถึง ปัญหา อุปสรรค โอกาสในการพัฒนา และการสร้างความยั่งยืนต่อโครงการฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนชายขอบในสังคมเมือง เพื่อแสวงหารูปแบบแนวทางการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัย คือ การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการฯ หัวหน้าแก๊งและเด็กเยาวชนชายขอบ พี่เลี้ยงจิตอาสา และเครือข่ายพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการฯ
ผลการศึกษา พบว่า แนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชนในโครงการฯ มี 4 แนวทางคือ (1) P : POSSIBILITY มองปัญหาเป็นโอกาสเสมอ (2) C : COOPERATION บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (3) L : LEARNING รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และ(4) O : OCCUPATION มุ่งเน้นกิจกรรมสร้างอาชีพ ที่ดำเนินงานผ่านแนวคิด “5C พิชิตใจเด็กชายขอบ” ซึ่งประกอบไปด้วย Core person หากลุ่มคนที่ใช่ Connect ติดต่อ สร้างสัมพันธ์ในเชิงลึก Control ควบคุมกำหนดทิศทาง Continue ติดตามอย่างต่อเนื่อง และ Complete บรรลุผลสำเร็จ นำมาซึ่งรูปแบบแนวทางการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมกับประเทศไทย จากที่โครงการฯได้ดึงศักยภาพ และคุณความดีในจิตใจของเด็กเยาวชนชายขอบออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเยาวชนชายขอบสามารถสร้างอาชีพ ดูแลตนเอง ดูแลครอบครัว และทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ ส่งผลให้คนในสังคมให้การยอมรับเด็กเยาวชนชายขอบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโครงการฯยังคงพบปัญหาอีกหลายประการ คือ ปัญหาด้านการเข้าถึงเด็กและเยาวชนชายขอบ ปัญหาการดูแลเด็กและเยาวชนไม่ทั่วถึง ปัญหาด้านการปรับเปลี่ยนทัศนคติเด็กและเยาวชนชายขอบ ปัญหาด้านการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่าย และปัญหาด้านความยั่งยืนของโครงการฯ จึงนำมาซึ่งข้อเสนอแนะต่อโครงการฯดังนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายในการผลักดันการปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชนชายขอบในทุกพื้นที่ วางแผนจัดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์เด็กเยาวชนชายขอบระหว่างจังหวัด มอบหมายหน้าที่ให้รุ่นพี่ที่มีพฤติกรรมที่ดี เป็นหัวหน้ากลุ่มในการช่วยดูแลทีม เปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนชายขอบแสดงศักยภาพผ่านสื่อออนไลน์ ต่อยอดสร้างอาชีพเจ้าของธุรกิจให้ทีมแกนนำเยาวชนในโครงการฯ เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการฯ และขยายไปยังเครือข่ายจังหวัดอื่นที่สนใจต่อไป