Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ ทุน เมือง และชนบท ในการเมืองเรื่องไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2535 – 2563 โดยมีคำถามว่า “รัฐ ทุน เมืองและชนบท มีปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกันต่อประเด็นปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535 - มิถุนายน 2563 อย่างไร”
ผลการศึกษาพบว่า ตัวแสดงที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในการเมืองเรื่องไฟป่าและหมอกควันไม่ได้มีเพียง รัฐ ทุน และชนบทเท่านั้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชนบทและก่อให้เกิดการใช้ไฟในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุไฟป่า แต่ในปัจจุบันตัวแสดงใหม่ที่เข้ามามีบทบาทคือภาคเมือง อันเกิดจากการขยายตัวของเมืองที่มีลักษณะเศรษฐกิจในรูปแบบการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว หรือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เอกนครระดับภาค" เมื่อหมอกควันเข้ามากระทบกับเมือง จึงทำให้ภาคเมืองเข้ามามีบทบาทเชิงวาทกรรมเชิงข้อเรียกร้องและการผลักดันในการจัดการกับปัญหา ภาคเมืองได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ 1. ภาคเมืองที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจนมีข้อเรียกร้องที่กดทับชนบท ภายใต้วาทกรรม “ผู้คนที่อยู่ในเขตป่าเป็นก่อให้เกิดไฟป่า” โดยสนับสนุนข้อเรียกร้องว่าด้วยการห้ามเผา ซึ่งสอดรับกับการจัดการปัญหาของรัฐที่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่ ภาคเมืองรูปแบบที่ 2 คือ ภาคเมืองที่มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจนหรือกลุ่มสภาลมหายใจพยายามต่อต้านกับวาทกรรมภาคเมืองกลุ่มแรก “ทุกคนเป็นต้นตอของปัญหาฝุ่นควัน” และพยายามผลักดันวิธีการจัดการปัญหาแบบการจัดการไฟ (fire management) แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเมืองทั้ง 2 รูปแบบมีลักษณะและท่าทีที่ประนีประนอมกับรัฐและร่วมมือกับรัฐ โดยที่ไม่ท้าทายต่อระบอบรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจ และไม่ได้สร้างข้อเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจ