Abstract:
การศึกษาวิจัย เรื่อง “แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: ศึกษากรณีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อกำหนดและแนวทางของสหประชาชาติ รวมถึงความสอดคล้องของสภาพสังคมไทยกับการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุด และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยในการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามมาตรฐานสหประชาชาติ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายมาปฏิบัติ กลุ่มประชาสังคม และกลุ่มนักวิชาการ จำนวน 14 คน ผลการศึกษาพบว่า ข้อกำหนดและแนวทางการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดของสหประชาชาติเป็นมาตรฐานสากลที่พึงปฏิบัติ แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากประเทศไทยกำหนดนโยบายการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดสอดคล้องต่อแนวทางของสหประชาชาติจะส่งผลให้สามารถลดความผิดพลาดในการดำเนินคดีอาญาด้วยการลงโทษผู้บริสุทธิ์ และลดผลกระทบต่อเหยื่อได้ แนวทางที่เหมาะสมในการใช้โทษประหารชีวิตในกรณีคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางของสหประชาชาติ คือ การใช้โทษประหารชีวิตเฉพาะในคดีเจตนาฆ่าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และอาจพักการใช้โทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อีกทั้งการนำมาตรการแทนการลงโทษประหารชีวิตในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิตที่ไม่สอดคล้องต่อแนวทางของสหประชาชาติ คือ กำหนดโทษจำคุกเพิ่มเข้าไปในบางฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว, การใช้โทษจำคุกระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการพ้นโทษ, การจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ได้รับการลดโทษ และการนำนักโทษประหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุด (Most Serious Crime) ที่สอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติและเหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตสืบไป