Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาถึงบทบาทของจีนในการให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวแก่ประเทศไทย ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว แห่งประเทศไทย กับสำนักงานแผ่นดินไหวจังหวัดกวางตุ้ง ประเทศจีน และวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ของประเทศจีน จากการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว โดยใช้วิธีการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องอำนาจละมุน (soft power) เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ผลการศึกษา พบว่า การให้ความช่วยเหลือจากจีน นอกจากเรื่องการให้ทุนในการศึกษาดูงาน อบรม สัมมนา แก่เจ้าหน้าที่ของประเทศไทยแล้ว ยังได้ให้ทุนในการติดตั้งสถานีและเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวและตรวจการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกจำนวน 4 สถานี โดยผลประโยชน์ที่จีนได้รับแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) ผลประโยชน์โดยตรงด้านแผ่นดินไหว คือ การสร้างเครือข่ายข้อมูลแผ่นดินไหวระหว่างประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการเตือนภัยแผ่นดินไหว (2) ผลประโยชน์ทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจและสังคม คือ การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดี การส่งเสริมสินค้าเทคโนโลยีแผ่นดินไหวจากจีน และ (3) ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เป็นไปได้ คือ การได้รับข้อมูลด้านตำแหน่งที่ตั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดิน และข้อมูลด้านพิกัดภูมิศาสตร์อย่างละเอียด ซึ่งผลประโยชน์ใน 2 ประการหลังนี้สอดคล้องกับแนวความคิดอำนาจละมุนที่การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย นำไปสู่ความเป็นไปได้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อกันมาต่อประเทศจีน