Abstract:
การวิจัยเรื่อง แบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยที่เป็นข้อบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อ (1) ศึกษาปัญหาอาชญากรรมลูกผสมที่เป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย (2) สร้างแบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยที่เป็นข้อบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมที่ใช้ในการจำแนก และอธิบายความสัมพันธ์และ/หรือหลักฐานในการยอมรับว่าเป็นอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย และ (3) ศึกษาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานของการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเน้นการวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลักสำคัญจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 400 คน ซึ่งใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น (IOC = 0.868, Reliability = 0.981) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่า ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ปัจจัยบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทยโดยใช้ตัวแบบสมการเชิงโครงสร้าง ในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปฏิบัติงานระดับผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย จำนวน 15 คน ซึ่งใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา เพื่ออธิบายและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเชิงปริมาณ รวมทั้งเป็นส่วนเสริมหรือส่วนเติมเต็มความสมบูรณ์ถูกต้องของงานวิจัย
ผลการวิจัย พบว่า ปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบด้านปัญหาอาชญากรรมลูกผสมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.18) ซึ่งเป็นอาชญากรรมมากกว่ารูปแบบเดียว ที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างอาชญากรรมรูปแบบเดิมและอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เป็นอาชญากรรมลูกผสมพื้นฐาน อาชญากรรมลูกผสมขั้นสูง อาชญากรรมลูกผสมอื่น ๆ และในอนาคต โดยปรากฏลักษณะสำคัญของปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในมิติด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผู้กระทำผิดหรืออาชญากรมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย/องค์กรมากขึ้น ข้ามรัฐ/ไร้พรมแดน พึ่งพาเทคโนโลยี วิธีการที่หลากหลาย/ซับซ้อน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่จำกัดช่วงเวลาและสถานที่ สร้างการเลียนแบบ เข้าถึงเป้าหมายได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับเป้าหมาย คุ้มค่ามากที่สุดในการก่อเหตุต่อครั้ง เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ยาก ทำให้สูญเสียบุคลากรและงบประมาณจำนวนมากในการปราบปราม ป้องกันและแก้ไข ซึ่งการสร้างแบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทยตามสมมติฐาน มีความสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงประจักษ์ (p-value = 0.881, Chi-square / df = 0.920, CFI = 0.95, GFI = 0.96, AGFI = 0.95, RMSEA = 0.000, SRMR = 0.040) สรุปได้ว่า ปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทยได้รับอิทธิพลรวม เชิงบวกจาก ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเทคโนโลยี (β = 0.92) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาค (β = 0.89) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในระดับจุลภาค (β = 0.95) ปัจจัยด้านจิตวิทยา (β = 0.73) และปัจจัยด้านกายภาพ/ชีวภาพ (β = 0.78) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทยนั้น ควรเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ต่อเนื่อง ทันเวลา และปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ในอนาคต ใช้หน่วยงานเฉพาะที่มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือพิเศษ รวมทั้งการลงทุนในมนุษย์ที่เป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของคนในสังคมไทย