Abstract:
การศึกษา “กลไกการขับเคลื่อนนโยบายการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษากระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาสภาพแวดล้อมคลองของกรุงเทพมหานคร ผ่านโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง รวมไปถึงศึกษาอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินการ และเพื่อนำผลการศึกษามาใช้กำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครต่อไป โดยใช้วิธีระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้างกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร
จากการศึกษาพบว่า การขับเคลื่อนนโยบายการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง มีจุดเริ่มต้นจากแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งการดำเนินนโยบายออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นระยะของการดำเนินการรื้อย้ายแผงค้าที่มีการรุกล้ำปากคลองโอ่งอ่าง เพื่อคืนพื้นที่สาธารณะ และระยะที่ 2 เป็นระยะของการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสร้างพื้นที่เศรษฐกิจคืนสู่ชุมชน กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว มีความชัดเจนของลักษณะการทำงานในสองทิศทางผสานกันระหว่างกระบวนการกำหนดนโยบายแบบบนลงล่าง (Top-down planning) และแบบล่างขึ้นบน (Bottom-up planning) โดยภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานสำหรับการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้แก่ประชาชน ซึ่งมีปัจจัยความสำเร็จแรกเริ่มมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมาย และมีบริบททางการเมืองเข้ามาเป็นตัวช่วยผลักดันให้การบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ในขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครก็ได้พิจารณากำหนดนโยบายต่อยอดจากสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดพลังแห่งการขับเคลื่อนในทางสร้างสรรค์ เกิดความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน นำไปสู่ความร่วมมือในการปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองและการบริหารจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน