Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับของความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลบ้านปงและชุมชนบ้านปง 3 ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะที่ 1 2) เพื่อศึกษารูปแบบ การก่อตัวและกระบวนการของความร่วมมือระหว่าง รพ.สต.และชุมชน 3) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของความร่วมมือ ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับความร่วมมือ ได้แก่ ปัจจัยการรับรู้ปัญหาร่วมกัน ปัจจัยศักยภาพองค์การ ปัจจัยการสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์การ ปัจจัยผู้นำชุมชน และปัจจัยความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิม 2) การก่อตัวของความร่วมมือเกิดจากการรับรู้ปัญหาร่วมกันว่าโรคโควิด-19 เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ศักยภาพของ รพ.สต.และชุมชนไม่เพียงพอจึงต้องร่วมมือกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ บนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีที่มีมานาน นอกจากนี้ยังพบว่าความไว้วางใจและความสัมพันธ์แบบเครือญาติยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความร่วมมือ 3) กระบวนการความร่วมมือ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ (1) การเจรจา (2) การสร้างข้อตกลง (3) การดำเนินการ (4) การประเมินผล และ (5) การเสริมแรง ซึ่งการเสริมแรงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่การศึกษานี้ได้ค้นพบ 4) รูปแบบความร่วมมือ เป็นความร่วมมือแบบภาครัฐและประชาชนร่วมกันดำเนินการ 5) ปัญหาและอุปสรรคของความร่วมมือ ได้แก่ ขาดแคลนทรัพยากรในการป้องกันโรค สมาชิกชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคทำให้เกิดความตื่นตระหนก และผู้นำชุมชนขาดอำนาจตามกฎหมายในการรับมือกับโรคระบาด