Abstract:
งานวิจัยเรื่อง ความยั่งยืนของมาตรการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการบินพลเรือน กรณีศึกษาการติดธงแดงจาก International Civil Aviation Organization (ICAO) ชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามว่า การแก้ไขปัญหาด้านการกำกับดูแลการบินพลเรือนของไทยที่สืบเนื่องจากการถูกติดธงแดงในปี พ.ศ. 2558 เป็นไปอย่างยั่งยืนหรือไม่ โดยใช้แนวคิดความล้มเหลวภาครัฐ ธรรมาภิบาลภาครัฐ และหลักนิรภัยการบิน ในการวิเคราะห์ข้อมูล การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวม 9 คน
งานวิจัยชิ้นนี้ มีข้อค้นพบ คือ 1. ปัญหาหลักที่นำไปสู่การติดธงแดงโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คือการที่หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) หรือกรมการบินพลเรือนในขณะนั้น ไม่แยกออกจากการเป็นผู้ให้บริการ (Operator) อย่างชัดเจน รวมทั้งกระบวนการออกใบอนุญาตยังประสบกับปัญหาความล้มเหลวภาครัฐและปัญหาธรรมาภิบาล เช่น การแสวงหาค่าเช่า (Rent-seeking) และความล่าช้าจากระบบราชการ (Red tape) 2. การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการบินพลเรือนมีทิศทางที่เป็นไปอย่างยั่งยืนเนื่องจากเกิดการปฏิรูปหน่วยงานกำกับดูแลในระดับโครงสร้างองค์กร ทำให้ประเทศไทยมีหน่วยกำกับดูแลที่แยกเป็นอิสระจากหน่วยให้บริการ การปรับโครงสร้างดังกล่าวได้นำไปสู่กระบวนการออกใบอนุญาตที่รวดเร็วและตรวจสอบได้มากขึ้น และมีการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบและอยู่ในรูปดิจิทัล อย่างไรก็ดี งานวิจัยพบว่า การปฏิรูประบบการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อนิรภัยการบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ในตลาดการบินพลเรือนนอกเหนือจากระบบการกำกับดูแลของภาครัฐ
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในด้านการจัดการด้านข้อมูล (Data) ในอนาคตที่จะมีจำนวนมากและที่ผ่านมามีการโจมตีจากภายนอกอยู่บ่อยครั้งจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ อาจจะต้องมีการป้องกันและสำรองข้อมูลให้เหมาะสม และปัญหาการแสวงหาค่าเช่า (Rent-seeking) เนื่องจาก บุคลากรของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีจำนวนมากจึงอาจจะเกิดช่องว่างในการแสวงหาค่าเช่าได้