Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามที่ว่า ผู้ผลิตและผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทต่าง ๆ มีความเชื่อมั่นในเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใด และการพัฒนาเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีคุณภาพสูงขึ้นและแข่งขันได้มากขึ้นหรือไม่ อย่างไร โดยใช้แนวคิดเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานในฐานะเครื่องมือเชิงนโยบายของภาครัฐ และแนวคิดเกี่ยวกับการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการแข่งขันในตลาดมาเป็นแนวทางการทำวิจัย งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ ข้อค้นพบของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การได้มาซึ่งเครื่องหมาย มผช. เป็นประโยชน์ต่อการสร้างแบรนด์และกิจกรรมทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ต้องอาศัยหน้าร้าน ผู้ผลิตรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดมานานแล้วมีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์จากการขอ มผช. มากกว่าผู้ผลิตหน้าใหม่หรือผู้ผลิตรายเล็ก ในส่วนของผู้บริโภค แม้ว่าเครื่องหมาย มผช.จะไม่เป็นที่รู้จักหรือสนใจมากนัก เพราะผู้บริโภคสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนมักเลือกซื้อสินค้าจากความประทับใจในอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่าการดูเครื่องหมาย แต่ผู้บริโภคสินค้าบางชนิด เช่น ผ้าไหม เห็นว่าเครื่องหมาย มผช. จะช่วยให้ตัวเองเลือกซื้อสินค้าได้ดีขึ้น ในส่วนของกระบวนการขอมาตรฐาน พบว่า ผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย มผช. พึงพอใจกับการให้บริการของภาครัฐในกระบวนการรับรองค่อนข้างมาก ซึ่งความพึงพอใจนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเครื่องหมาย มผช. ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ สมอ. ควรปรับระยะเวลาการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้สั้นลงเพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้ผลิตชุมชน เนื่องจาก เครื่องหมาย มผช.ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันและช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น และควรดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องหมาย มผช. เป็นที่รู้จัก ผู้บริโภคเชื่อมั่นและสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพสูงขึ้น