Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จนนำไปสู่การยกร่างจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563 - 2565) ของ สมช. และวิเคราะห์รูปแบบการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองแต่ละกลุ่มไปปฏิบัติ นำมาซึ่งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนและปรับปรุงแผนปฏิบัติการดังกล่าวในระยะต่อไป โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สมช. ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบาย ตลอดจนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ผู้วิจัยพบว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวแบ่งผู้หลบหนีเข้าเมืองออกเป็น 4 กลุ่มตามสภาพปัญหาซึ่งได้แบ่งมอบให้หน่วยงานหลักในการรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองในแต่ละกลุ่มตามภารกิจของหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนขั้นตอนดังกล่าวคือกลยุทธ์ในการดำเนินนโยบายการดำเนินงานเชิงรุก และการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรค ได้แก่ 1) ขาดความชัดเจนของแนวทางและกลยุทธ์ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ทำให้หน่วยงานระดับปฏิบัติใช้ดุลยพินิจของตนเองและไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายตามที่แผนกำหนด 2) งบประมาณและบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองที่มีจำนวนมากขึ้น 3) ขาดความต่อเนื่องของการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเนื่องจากการขาดการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน 4) มีความล่าช้าและไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วน เพราะขาดการส่งมอบนโยบายจากผู้บริหารไปสู่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน 5) เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งขาดความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ไทยยังคงมีปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองมีจำนวนไม่ลดลง และ 6) ความซับซ้อนของแผนปฏิบัติการ ทำให้เพิ่มภาระให้กับหน่วยงานระดับปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง เพื่อให้แผนปฏิบัติการในระยะต่อไปของ สมช. มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้