Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาการจัดการแรงงานข้ามชาติโรฮิงญาของประเทศมาเลเซีย โดยศึกษาความมั่นคงของมนุษย์ต่อการจัดการแรงงานชาวโรฮิงญาประเทศมาเลเซีย เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์แนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานทั้งจากรัฐบาลมาเลเซีย และองค์กรนอกภาครัฐ ภายใต้กรอบแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิด (Critical Security) และแนวคิดการย้ายถิ่นเป็นส่วนประกอบของการวิเคราะห์
จากการศึกษาพบว่า ประเทศมาเลเซียได้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการแรงงาน จากการดำเนินการด้านนโยบายหรือการจัดการ โดยการให้ความช่วยเหลือแรงงานทำให้สามารถดำรงชีวิตตามแนวทางขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัย ผ่านมาตรการทางด้านกฎหมายต่างๆ ทำให้แรงงานต่างชาติสามารถได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับแรงงานมาเลเซียภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การรับเงินทดแทนหรือประกันสังคม รวมทั้ง ได้มีการลงนามในตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึง อนุสัญญาพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน ทำให้มาเลเซียทราบถึงมาตรการที่รัฐดำเนินการเพื่อปกป้องแรงงานข้ามชาติ แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงมนุษย์ของแรงงานต่างชาติ แต่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเท่าที่ควร จึงเกิดเป็นการประสานความร่วมมือร่วมกันระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย กับองค์กรนอกภาครัฐ อย่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงานในประเทศมาเลเซีย อย่างกลุ่ม Tenaganita ที่ได้มีการสนับสนุนให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาตามแบบสากล เพื่อให้มีกรอบแนวทางการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ องค์กรนอกภาครัฐเป็นเพียงแค่ส่วนส่งเสริมแต่ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของมาเลเซียได้ ทำให้การจัดการแรงงานต่างชาติจึงยังเป็นการให้ความสำคัญ และพึ่งพาภาครัฐมากกว่าที่จะเป็นการเน้นบทบาทของแรงงานอย่างแท้จริง