Abstract:
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษานโยบายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นภายใต้อาเบะโนมิกส์ และวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ของนโยบายการท่องเที่ยวดังกล่าวด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎีการเมืองเกี่ยวพัน เมื่อนายชินโซะ อาเบะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 2012 ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายในอย่างผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเมื่อปี ค.ศ. 2011 และปัจจัยภายนอกอย่างการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งจีนใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการต่อรองประเด็นข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะเซนกากุกับญี่ปุ่นโดยการกีดกันทางการค้าและแทรกแซงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลอาเบะ มองว่า แม้จีนจะจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น แต่การกระทำนี้ของจีนก็ถือเป็นภัยคุกคามของญี่ปุ่นเช่นกัน จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นในระยะยาวพร้อมกับการตอบโต้การผงาดขึ้นมาของจีนด้วย
จากการศึกษาพบว่า ในสมัยรัฐบาลอาเบะนโยบายการท่องเที่ยวได้ถูกให้ความสำคัญอย่างมากและถูกบรรจุในศรที่สามที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์การเติบโต" ภายใต้กลยุทธ์อาเบะโนมิกส์ด้วย ซึ่งจากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้รัฐบาลอาเบะกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มตลาดจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการบริโภคเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการเหล่านี้ที่หันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาดใหม่อย่างนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาจีน ซึ่งสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายในการตอบโต้และสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีนได้อย่างละมุนละม่อมด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายการท่องเที่ยวภายใต้กลยุทธ์อาเบะโนมิกส์จะประสบความสำเร็จจนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่บางมาตรการนั้นกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่สร้างผลกระทบต่อคนในชาติและยังลุกลามกลายเป็นปัญหาข้ามชาติด้วย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องหาแนวทางจัดการปัญหาเหล่านี้เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยั่นในระยะยาวต่อไป