Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสาน ซี่งกลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณคือผู้ใช้งานระบบ จำนวน 567 คน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและวิเคราะห์ด้วยสถิติหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ T-Test สถิติ One-Way ANOVA และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ส่วนกลุ่มตัวอย่างเชิงคุณภาพคือผู้ใช้งานระบบ จำนวน 8 คน ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกและแปรผลโดยการวิเคราะห์จากเนื้อหา จากนั้นจะนำผลของทั้งสองวิธีมาเปรียบเทียบกัน
ผลการวิจัยพบว่า 1) ระดับการยอมรับของผู้ใช้งานอยู่ในระดับมาก 2) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์การใช้ระบบ ที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ใช้งานมีระดับการยอมรับระบบที่แตกต่างกัน แต่สำหรับสถานภาพในการทำงาน ในการวิจัยเชิงปริมาณพบว่าไม่มีผล แต่การวิจัยเชิงคุณภาพพบว่ามีผล 3) ปัจจัยหลัก ได้แก่ การรับรู้ความง่ายในการใช้งาน ความน่าเชื่อถือของระบบ และการสนับสนุนจากองค์กร เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับของผู้ใช้งาน ส่วนการรับรู้ประโยชน์ของการใช้งาน ในเชิงปริมาณพบว่าไม่มีผล แต่ในเชิงคุณภาพพบว่ามีผล 4) ในการพัฒนาระบบ ต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ให้ข้อมูลวิธีใช้งานอย่างง่ายและข้อมูลด้านความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ ประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของระบบ ตลอดจนผลักดันให้องค์กรของผู้ใช้สนับสนุนระบบ