Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยแบบผสมผสาน ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาความแตกต่างของปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสาร และปัจจัยด้านการรับรู้บทบาทที่มีผลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนกรุงเทพมหานครต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย และ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนกรุงเทพมหานครต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย กลุ่มประชากรในการศึกษา คือ คนกรุงเทพมหานครที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 400 คน ใช้วิธีเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 4 คน การวิเคราะห์ผลเชิงปริมาณใช้สถิติแบบพรรณา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของตัวแปรด้วย Independent Samples t-test และ One-Way ANOVA/ F-test การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Multiple Linear Regression Analysis) และการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า คนกรุงเทพมหานครมีการรับรู้บทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีระดับการรับรู้บทบาทด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากที่สุด (Mean =3.16, S.D.=0.81). มีทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยทัศนคติที่มีค่าสูงสุด คือ องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ(Mean=3.45, S.D.=1.00) และทัศนคติที่มีค่าต่ำสุด คือ บทบาทขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยในการพัฒนาและควบคุมอุตสาหกรรม (Mean=2.94 ,S.D.=1.07) ส่วนการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล พบว่าระดับการศึกษา สถานที่กำลังศึกษาหรือจบหลักสูตร และอาชีพมีผลต่อการรับรู้และทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสารจากแหล่งข่าวสารที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อการรับรู้และทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และปัจจัยด้านการรับรู้บทบาทขององค์การสหประชาชาติในด้านการเผยแพร่การพัฒนาที่ยั่งยืนและด้านการผดุงกฏหมายระหว่างประเทศมีอิทธิพลส่งผลต่อการรับรู้และทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05