Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสัญศาสตร์แห่งชนชั้นในพิธีการไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง: กรณีศึกษาคนไทยเชื้อสายจีน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมองผ่านมุมมองสัญศาสตร์และชนชั้นทางสังคม กลุ่มตัวอย่างพิจารณาจากคนไทยเชื้อสายจีน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์และกลุ่มเจเนอเรชันเอ็กซ์ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใช้การสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์อย่างไม่มีส่วนร่วมเพื่อเก็บข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า การให้ภาพสัญญะและการให้ความหมายภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้ง มีการให้สัญญะจากอัตลักษณ์ของความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีนกวางไสในพื้นที่เบตง สิ่งนี้นำไปสู่ความเฉพาะทางวัฒนธรรม ทั้งเรื่องอาหาร การใช้ภาษา ความเชื่อ ขั้นตอนการประกอบพิธีและลักษณะเฉพาะของสุสานตำบลยะรม สัญญะภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้งจึงแตกต่างจากพื้นที่อื่น ซึ่งสร้างชนชั้นทางสังคมจากการมีทุนที่แตกต่างกัน อันนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านการประกอบสร้างความหมาย การวิจัยพบว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นผลมาจากการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่มีปัจจัยทางสังคมที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน 4 ประเด็น คือ 1) การลดขั้นตอนการทำพิธี 2) ประเภทอาหาร 3) การฝังศพสู่การเผาศพ 4) ป้ายฮวงซุ้ย นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่าชนชั้นทางสังคมที่แฝงอยู่ภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้ง เป็นชนชั้นทางสังคมภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องทุน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการให้ความหมายสัญญะต่อสิ่งของ วัตถุและบทบาททางเพศที่ต่างกัน จากปัจจัย 4 ประการ คือ 1) การประกอบอาชีพ 2) ฐานะทางเศรษฐกิจ 3) ระดับการศึกษา 4) การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามสิ่งของบางประเภทไม่ได้มีนัยยะสำคัญในเรื่องชนชั้นทางสังคมในทุกครอบครัวของคนไทยเชื้อสายจีน การศึกษานี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าสัญญะและชนชั้นทางสังคมที่อยู่ภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้ง ควรพิจารณาปัจจัยทางสังคม ความแตกต่างของพื้นที่และอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์จีนที่ต่างกัน