Abstract:
สารนิพนธ์เรื่องนี้มุ่งตอบคำถามที่ว่านโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 มีกระบวนการก่อตัวและพัฒนาการของการดำเนินนโยบายในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร โดยใช้แนวคิดทฤษฎีการระบุปัญหาและการก่อตัวของนโยบาย และแนวคิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นแนวคิดหลักในการตอบคำถามวิจัยครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วยการเก็บข้อมูลจาก 2 ส่วน ได้แก่ การศึกษาวิจัยเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย จำนวน 11 คน ผลการศึกษา พบว่า ที่มาของนโยบายเกิดขึ้นมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานทหารกับประชาชนในพื้นที่สงวนหวงห้ามของทหารจังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2532 ที่นำไปสู่การชูประเด็นปัญหาการบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของรัฐเหนือปัญหาสิทธิในที่ดินของประชาชน และปัญหาการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้การเกิดขึ้นของกลไก กบร. ยังเป็นการดึงอำนาจการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของประชาชนจากกลไกรัฐอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม มาอยู่ภายใต้กลไกของส่วนกลางที่ กบร. กำหนดขึ้น ในส่วนพลวัตของนโยบาย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของนโยบายมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับรายละเอียดของเนื้อหาและขั้นตอนการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์ของนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับกลไกการพิสูจน์สิทธิในที่ดินซึ่งเป็นกลไกหลักของการแก้ไขปัญหา และเป็นกระบวนการที่มีปัญหาจำนวนมากในระดับปฏิบัติ ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะ คือ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควรใช้โอกาสในการโอนย้ายหน่วยงานไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ทบทวนกระบวนทัศน์ในการดำเนินนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ไม่ควรจำกัดอยู่แค่เพียงกระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินเท่านั้น รวมถึงควรปรับปรุงแก้ไขมาตรการและแนวทางในการดำเนินงานที่ยังมีปัญหาอุปสรรคและความล่าช้าอยู่ในปัจจุบัน ให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันมากยิ่งขึ้น