Abstract:
ปัญหาขอทานเป็นปัญหาสังคมมายาวนานทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม และส่งผลไปยังปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การค้ามนุษย์ การป้องกันและแก้ปัญหาให้ขอทานหลุดพ้นจากสภาวะการเป็นขอทานจึงเป็นประเด็นสำคัญ การศึกษาครั้งนี้เพื่อ 1) ศึกษาถึงเงื่อนไขของการเข้าสู่การเป็นคนขอทาน 2) ศึกษาถึงเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการยุติการเป็นคนขอทาน 3) ศึกษาถึงรูปแบบและวิธีการที่คนขอทานไทยยุติการเป็นคนขอทาน และ 4) เสนอแนะแนวทางการป้องกันและการให้ความช่วยเหลือแก่คนขอทานไทย ผ่านการศึกษาเชิงคุณภาพแบบประวัติศาสตร์ชีวิต (Life History) ของกรณีศึกษา โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นบุคคลที่หลุดพ้นสถานะของคนขอทานในสองสถานะคือบุคคลที่ประกอบอาชีพอยู่แล้ว และบุคคลอยู่ในระหว่างการพักฟื้นภายในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 6 คน จากผลการศึกษาพบว่า เงื่อนไขที่ส่งผลให้กลายเป็นคนขอทานเมื่อพิจารณาจากแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงสังคม ได้แก่ 1) เงื่อนไขระดับบุคคล (Individual Level) ประกอบด้วย ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัญหาความยากจน ปัจจัยด้านความพร้อมของสภาพร่างกายและจิตใจ และเงื่อนไขปัจจัยด้านระดับการศึกษา 2) เงื่อนไขระดับระหว่างบุคคล (Interpersonal Level) หรือปัจจัยด้านครอบครัวเป็นเงื่อนไขหลักที่ผลักดันให้กรณีศึกษาแทบทุกกรณีกลายเป็นคนขอทาน 3) เงื่อนไขระดับสถาบัน (Organizational / Institutional Level) ประกอบด้วยปัจจัยด้านทุนทางสังคมและการเข้าถึงทุนทางสังคม ที่คอยให้การสนับสนุน เงื่อนไขในระดับ ที่ 4) เงื่อนไขระดับชุมชน (Community Level) และ 5) เงื่อนไขระดับสังคม (Social Level) เป็นเงื่อนไขที่ไม่ส่งอิทธิพลต่อการกลายเป็นขอทาน อย่างไรก็ตามเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นขอทานพบว่าประกอบด้วยสามระยะ คือ 1) ช่วงระยะตั้งต้น 2) ช่วงเปลี่ยนผ่านมาเป็นคนทั่วไปและพร้อมที่จะเริ่มต้นทำงาน และ 3) ช่วงสร้างความมั่นคงในงานหรืออาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ชีวิตของอดีตคนขอทานสามารถทะยานพ้นจากการเป็นขอทานซึ่งอยู่ในเงื่อนไขระดับสถาบันและเงื่อนไขระดับสังคมมากกว่าเงื่อนไขระดับที่ใกล้ตัวขอทาน คือ ปัจจัยจากภาครัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมอย่าง สถาบันทางศาสนาเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านมาเป็นขอทานและการกลับไปเป็นคนปกติมีปัจจัยที่แยกขาดออกจากกันไม่ได้อย่างชัดเจน เพราะแต่ละปัจจัยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้นขอทานแต่ละคนจะมีเงื่อนไขของการกลับไปสู่คนปกติที่แตกต่างกัน และการแก้ไขเป็นกระบวนการที่สิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่าการป้องกันไม่ให้กลายมาเป็นขอทาน ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้ คือ การกำหนดนโยบายในการป้องกันเพื่อไม่ให้บุคคลในสังคมต้องเปลี่ยนสถานะเป็นคนขอทาน และนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่มีสถานะเป็นคนขอทานให้สอดคล้องกับบริบทของปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเหมาะสม ในกลุ่มคนที่สามารถหลุดพ้นสถานะจากการเป็นคนขอทานและเปลี่ยนสถานะมาเป็นคนที่เริ่มต้นจะเป็นคนทำงาน และมีสถานะเป็นคนทำงานแล้ว รัฐและสถาบันอื่น ๆ ในสังคมก็ควรที่จะหยิบยื่นโอกาสและมอบความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ประกอบกับทัศนคติที่ผู้คนในสังคมมีต่อกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้