Abstract:
ศึกษาพัฒนาการด้านความสามารถในการเข้าใจทัศนะของผู้อื่นในเด็กไทย กุล่มตัวอย่างคือเด็กไทยอายุ 4-15 ปี จำนวน 120 คน เพศชายและหญิงจำนวนเท่ากันในแต่ละระดับอายุ เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย เรื่องเล่าพร้อมกับภาพประกอบและคำถามเกี่ยวกับเรื่องเล่า จากนั้นขอให้เด็กบรรยายความคิดและความรู้สึกของตัวละครในเรื่องเล่า รวมทั้งเด็กต้องบรรยายความคิดและความรู้สึกของตนเองในความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิท และผู้วิจัยใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประเมินขั้นพัฒนาการ ด้านความสามารถในการเข้าใจทัศนะของผู้อื่นของเด็กไทยตามทฤษฎีของ Selman (1979) สุดท้ายได้เปรียบเทียบผลการวิจัยครั้งนี้กับผลการวิจัยของ มัลลิกา สันติหิรัญภาค (2545) ซึ่งศึกษาตามแนวคิดของ Feffer & Gourevith (1960) ผลการวิจัยเป็นดังนี้ พัฒนาการด้านความสามารถในการเข้าใจทัศนะของผู้อื่นของเด็กไทยอายุ 4-5 ปี 6-8 ปี 9-10 ปี 11 ปี 12-13 ปี และ 14-15 ปี อยู่ในขั้น 0 : Egocentric or undifferentiated perspectives ขั้น 1 : Subjective or differentiated perspectives ขั้น 2 : Self-reflection or reciprocal perspectives อยู่ระหว่างขั้น 2 และ 3 ขั้น 3 : Third-person or mutual perspectives และขั้น 4 : Societal or in-depth perspectives ตามลำดับ ผลการวิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ มัลลิกา สันติหิรัญภาค ในลักษณะที่เด็กไทยอายุ 12 ปี มีความสามารถในการเข้าใจทัศนะของผู้อื่นแล้ว