Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ในการเพิ่มค่าแรงดึงของสร้อยข้อมือสายหนังให้ตรงตามเป้าหมาย คือมากกว่าหรือเท่ากับ 78 นิวตัน เพื่อลดของเสียการประกอบหลุดในผลิตภัณฑ์สร้อยข้อมือสายหนัง ซึ่งมีอัตราของเสียมากที่สุด โดยการวิจัยเริ่มจากการระดมความคิดและวิเคราะห์โดยผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครื่องประดับซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานโดยตรง ร่วมกันวิเคราะห์โดยใช้ผังก้างปลา (Cause and effect diagram) จากนั้นจึงได้นำปัจจัยทั้งหมดมาวิเคราะห์ต่อด้วยตารางแสดงความสัมพันธ์ของเหตุและผล (Cause & Effect Matrix) รวมทั้งวิเคราะห์ลักษณะข้อบกพร่องผลกระทบ (Failure Mode and Effects Analysis, FMEA) จากการวิเคราะห์ค่าความเสี่ยง (Risk Priority Number, RPN) ซึ่งนำมาจัดเรียงตามลำดับคะแนนโดยใช้แผนภูมิพาเรโต (Pareto Diagram) และทำการคัดเลือกปัจจัยที่มีค่าความเสี่ยงสูง ที่มีสัดส่วนน้ำหนัก 80% ได้แก่ อัตราส่วนกาวไม่เหมาะสม, ขนาดหัวบีบไม่เหมาะสม และปริมาณกาวไม่เหมาะสม ซึ่งคาดว่ามีอิทธิพลต่อค่าแรงดึงของสร้อยสายหนังเป็นอย่างมาก มาใช้ในการออกแบบการทดลอง ซึ่งใช้หลักการออกแบบการทดลองเชิงแฟคทอเรียลแบบสามระดับ (3k Factorial Design) โดยทำการทดลองปัจจัยละ 3 ระดับ ทำการทดลองซ้ำ 2 ครั้ง รวมจำนวนทั้งสิ้น 54 การทดลอง ทดลองครั้งละ 10 ชิ้น จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลการทดลองพบว่าระดับปัจจัยที่เหมาะสมคือ อัตราส่วนกาว Resin : Hardener ที่ 1 : 0.6 โดยมวล, ปริมาณกาว 12 กรัม และขนาดหัวบีบ 2.7 มิลลิเมตร ผลการดำเนินการปรับปรุงพบว่า สามารถเพิ่มค่าแรงดึงเฉลี่ยตรงตามเป้าหมาย โดยก่อนปรับปรุงค่าแรงดึงเฉลี่ยอยู่ที่ 70.30 นิวตัน เพิ่มขึ้นเป็น 111.40 นิวตัน ที่หลังปรับปรุง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การปรับปรุงค่าแรงดึงเพิ่มจากก่อนปรับปรุง 58.46%