Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดคอลลาเจนจากเอ็นร้อยหวายสุกร ศึกษาสมบัติของคอลลาเจนและศักยภาพในการนำไปใช้ร่วมกับไฟโบรอินไหมไทย คอลลาเจนจากเอ็นร้อยหวายสุกรที่สกัดด้วยกรดอะซิติก ความเข้มข้น 1 โมลาร์ ต่อด้วยสารละลายเอนไซม์เปปซินที่สภาวะต่างๆ คือ อุณหภูมิ (4 และ 25 องศาเซลเซียส) เวลา (24 และ 48 ชั่วโมง) และอัตราส่วนเอนไซม์ต่อคอลลาเจน (1/10, 1/30, และ 1/50 โดยน้ำหนัก) เพื่อกำจัดส่วนเทโลเปปไทด์ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพ้เมื่อนำไปใช้ คอลลาเจนที่สกัดด้วยกรด (ASC) และสกัดต่อด้วยสารละลายเปปซิน (PSC) มีร้อยละผลได้เท่ากับ 76.43±0.69 และ 74.07±2.80 ตามลำดับ การศึกษาค่าศักย์เซต้าของ ASC และ PSC เพื่อประมาณค่าจุดไอโซอิเล็กทริก พบว่ามีค่าประมาณ 5.61±0.02 และ 7.15±0.03 ตามลำดับ การวิเคราะห์ปริมาณและองค์ประกอบของกรดอะมิโน, น้ำหนักโมเลกุลด้วยเทคนิค SDS-PAGE และโครงสร้างทางเคมีด้วยเทคนิค FTIR พบว่า PSC เป็นคอลลาเจนชนิดที่ 1 โดยดูจากการวิเคราะห์น้ำหนักโมเลกุลด้วยเทคนิค SDS-PAGE แถบโปรตีนของคอลลาเจนนั้นปรากฏแถบของสาย α1, α2, β และ γ ที่มีน้ำหนักโมเลกุลประมาณ 127, 110, 230, และ 300 กิโลดาลตัน ตามลำดับ การวิเคราะห์โครงสร้างทางเคมีของคอลลาเจนด้วยเทคนิค FTIR พบว่าคอลลาเจนมีโครงสร้างเป็นเกลียวสามสายที่มีความคล้ายคลึงกับคอลลาเจนทางการค้า การวิเคราะห์สมบัติทางความร้อนของ ASC และ PSC ด้วยเทคนิค Thermogravimetric Analysis พบว่ามีอุณหภูมิในการเสียสภาพที่ 75.33 และ 72.50 องศาเซลเซียส ตามลำดับ อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์อุณหภูมิในการเสียสภาพด้วยเทคนิค Differential Scanning Calorimeter พบที่ 92.63 และ 97.50 องศาเซลเซียส ตามลำดับ การเตรียมสารละลายไฟโบรอินไหมจากไหมไทยพันธุ์เหลืองไพโรจน์โดยสกัดด้วยสารละลายลิเธียมโบรไมด์ แล้วนำมาเตรียมเป็นฟิล์มผสมคอลลาเจน/ไฟโบรอินไหมที่อัตราส่วน 99/1, 95/5, 90/10 และ 80/20 โดยน้ำหนัก พบค่ามุมสัมผัสของน้ำบนฟิล์มคอลลาเจน (PSC) สูงกว่าฟิล์มคอลลาเจน/ไฟโบรอินไหมและฟิล์มไฟโบรอินไหมบ่งบอกว่าฟิล์มคอลลาเจนมีความไม่ชอบน้ำมากกว่า