Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำฝนในพื้นที่เมือง ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว 3 ระบบ ได้แก่ ระบบกักเก็บน้ำฝน หลังคาเขียว และคอนกรีตพรุน โดยพิจารณาศักยภาพในการลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงท่อระบายน้ำ และศักยภาพในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการลดปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัด ลดปริมาณการใช้น้ำประปา และการช่วยอนุรักษ์พลังงานของมาตรการดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากกรมอุตุนิยมวิทยา ย้อนหลังเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 – 2560 และใช้โปรแกรม Open studio ซึ่งมีฐานข้อมูลของ EnergyPlus รุ่น 8.9.0 ในการจำลองการใช้พลังงานของอาคาร รวมทั้งประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในระยะเวลาโครงการ 50 ปี โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่กรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ระบบกักเก็บน้ำฝน ขนาดความจุ 40 ลูกบาศก์เมตร สามารถลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงท่อระบายน้ำและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดในขณะที่มูลค่าปัจจุบันสุทธิยังเป็นบวกนั่นคือจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ด้วย จึงควรได้รับพิจารณาทำก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวอื่นๆ นั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สำหรับหลังคาเขียว เป็นโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่สามารถลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงท่อระบายน้ำและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดแต่ก็มีต้นทุนที่สูงที่สุดเช่นกัน ขณะที่คอนกรีตพรุน เหมาะกับการใช้ประโยชน์ในการจัดการน้ำฝนแต่ไม่แนะนำสำหรับจุดประสงค์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก