Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอาคารสถานศึกษาในประเทศไทย โดยใช้เทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อบ่งชี้แหล่งกำเนิดผลกระทบที่สำคัญ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์แนวทางการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการประเมินศักยภาพการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามแนวทางต่าง ๆ โดยคำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ร่วมด้วย งานวิจัยนี้ใช้โปรแกรม Simapro V. 8.2 ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอาคารสถานศึกษาด้วยวิธีประเมินความยั่งยืนทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมสำหรับอาคาร (BEES+) และใช้โปรแกรม OpenStudio® ในการประเมินศักยภาพการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามแนวทางต่าง ๆ ด้วยวิธีการจำลองการใช้พลังงานในอาคาร (Energy Simulation)
ผลการวิจัยพบว่า ในการแบ่งวัฏจักรชีวิตของอาคารออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงก่อนการใช้งานอาคารหรือช่วงก่อสร้าง (Construction Phase) ช่วงการใช้งานอาคาร (Operation Phase) และช่วงหลังการใช้งานอาคารหรือช่วงรื้อทำลาย (Demolition Phase) ช่วงที่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมสูงสุด คือ ช่วงการใช้งานอาคาร ซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งานที่ 50 ปี เป็นหลัก รองลงมา คือ ช่วงการก่อสร้างอาคาร ซึ่งเกิดจากการได้มาซึ่งวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ โดยวัสดุที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงสุด คือ คอนกรีต (Concrete) และเหล็กเสริมคอนกรีต (Reinforcing steel) แต่เนื่องจากวัสดุที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงสุดเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในงานก่อสร้างเพื่อรองรับน้ำหนักอาคาร จึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ยาก งานวิจัยนี้จึงเสนอแนะแนวทางการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยการปรับเปลี่ยนวัสดุกรอบอาคารเป็นหลัก ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า วัสดุกรอบอาคารที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนสูงสุดทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อม คือ ฉนวนเซลลูโลสและคอนกรีตมวลเบา โดยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 107,740 tCO2eq และ 97,321 tCO2eq ตามลำดับ และยังช่วยลดค่าพลังงานสุทธิของอาคารได้ 2,909,000 บาท และ 1,469,540 บาท อีกด้วย