Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่รายงานความสัมพันธ์ของคลอโรฟิลล์ในใบอ้อยโดยวิเคราะห์จากค่าใบเขียวที่วัดค่าจากกการดูดกลืนแสงของใบอ้อยซึ่งอ่านได้จากเครื่องคลอโรฟิลล์มิเตอร์เปรียบเทียบหาความสัมพันธ์กับช่วงคลื่นของภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel – 2 ด้วยแบบจำลองการวิเคราะห์ 4 วิธีการ คือ แบบจำลองการวิเคราะห์แบบถดถอยแบบง่าย แบบการวิเคราะห์แบบจำลองถดถอยแบบพหุคูณ แบบจำลองความสัมพันธ์แบบป่าสุ่ม และแบบจำลองการพยากรณ์ด้วยเทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมแบบแพร่กลับ ผลการหาความสัมพันธ์พบว่าแบบจำลองวิเคราะห์แบบถดถอยแบบง่าย พบว่าช่วงคลื่นที่ 3 ที่ช่วงคลื่นการสะท้อนแสงสีเขียวให้ผลความสัมพันธ์ที่ดีกว่าช่วงคลื่นอื่น ๆ ทั้งสองระดับรายละเอียดเชิงพื้นที่ 10 เมตร และ 20 เมตร เมื่อมีการผสมรวมของช่วงคลื่นหลายช่วงคลื่นเข้าด้วยกัน ด้วยแบบจำลองถดถอยพหุคูณ พบช่วงคลื่นที่เหมาะสมต่อความสัมพันธ์ของแบบจำลองคลอโรฟิลล์ โดยนำเสนอค่าความสัมพันธ์ R2 เท่ากับ 0.63 และ 0.69 ที่เก้าช่วงคลื่น (2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 11 และ 12) ในระยะย่างปล้อง และแก่และสุกในรายละเอียดเชิงพื้นที่ 10 เมตร ในการพยากรณ์ความสัมพันธ์ ในช่วงระยะย่างปล้องพบว่า แบบจำลองการพยากรณ์ด้วยเทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมแบบแพร่กลับให้ความสัมพันธ์ที่สูงกว่าแบบจำลองความสัมพันธ์แบบป่าสุ่ม โดยให้ค่าความสัมพันธ์ R2 เท่ากับ 0.75 และ 0.71 ตามลำดับ ในขณะที่ระยะแก่และสุกให้ค่าความสัมพันธ์ R2 เท่ากับ 0.79 และ 0.78 ตามลำดับ ผลการศึกษา สามารถนำแบบจำลองไปใช้ประยุกต์หาสัมพันธ์ระหว่างค่าปริมาณคลอโรฟิลล์กับภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel – 2 เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินสุขภาพ และคุณภาพของอ้อยต่อไป จากแนวคิดดังกล่าว ผู้วิจัยเสนอให้ลองสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมประเภทการเรียนรู้เชิงลึก เพื่อยืนยันผลความสัมพันธ์ในการทดลองครั้งนี้