Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์การบังคับใช้กฎหมายอาญาของประเทศไทย ในภาค1 บทบัญญัติทั่วไป และภาค2 เฉพาะความผิดเกี่ยวกับชีวิต มาตรา 288 และมาตรา 289 ในลักษณะ10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย
ส่วนแรกของวิทยานิพนธ์นี้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายอาญาและคำพิพากษาของศาลฎีกาในการสร้างกฎในการพิจารณาที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ และส่วนที่สองคือการฝึกฝนแบบจำลองด้วยชุดข้อมูลจากคำพิพากษาด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก โดยแก้ปัญหาความไม่สมดุลของกลุ่มข้อมูลฝึกสอนด้วยการสังเคราะห์ตัวอย่างข้อมูลในกลุ่มอื่น ๆ ให้มีจำนวนเท่ากับกลุ่มที่มากที่สุด และฝึกสอนด้วยโครงข่ายหน่วยความจำระยะสั้นแบบยาวทิศทางเดียวและสองทิศทาง ซึ่งเป็นโครงข่ายประสาทเทียมแบบวกกลับประเภทหนึ่ง และเมื่อวัดประสิทธิภาพแบบจำลองด้วยค่าเฉลี่ยมหภาคเอฟวัน พบว่าแบบจำลองของหน่วยความจำระยะสั้นแบบยาวสองทิศทางให้ประสิทธิภาพสูงกว่าแบบทิศทางเดียว และการใช้ค่าถ่วงน้ำหนักเริ่มต้นจากเรียนรู้ด้วยคลังข้อมูลขนาดใหญ่อื่น ให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่าการใช้เฉพาะข้อมูลฝึกสอน และท้ายสุดทำการทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองจากข่าวอาชญากรรมด้วยเทคนิคการหาค่าเฉลี่ยความน่าจะเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลขาเข้าของกฎการพิจารณา พบว่าสอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมาย 59 %