Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการประยุกต์ใช้โปรแกรม RapidMiner V.9.2 ใช้ทำนายปริมาณสารส้มที่ใช้ในระบบผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาอุดรธานี โดยข้อมูลอินพุต 4 ตัวแปร คือ ความเป็นกรด-ด่างของน้ำดิบ ความขุ่นของน้ำดิบ ความเป็นกรด-ด่างของน้ำก่อนกรอง และความขุ่นของน้ำก่อนกรอง ข้อมูลเอาต์พุต คือ ปริมาณสารส้ม ในการสร้างแบบจำลองใช้ข้อมูลตั้งแต่ตุลาคม 2556 ถึงเมษายน 2561 จำนวน 4,029 ชุด ใช้ทฤษฎี 6 ทฤษฎี ดังนี้ W-LinearRegression W-MultilayerPerceptron W-REPTree W-M5P W-M5Rules และ Gradient Boosted Tree (GBT) และทดลองทั้งหมด 24 รูปแบบ เพื่อหาแบบจำลองที่ดีที่สุดในแต่ละรูปแบบ จากนั้นตรวจสอบแบบจำลองโดยใช้ข้อมูลชุดเดิมที่ใช้สร้างแบบจำลองและข้อมูลตั้งแต่พฤษภาคม 2561 ถึงเมษายน 2562 จำนวน 1,089 ชุด นอกจากนี้นำมาประยุกต์ใช้ลดปริมาณการใช้สารส้ม การวิเคราะห์ความอ่อนไหว จากการทดลองสรุปได้ว่า แบบจำลองที่สามารถใช้ในแต่ละรูปแบบได้ มีทั้งหมด 10 แบบจำลอง ซึ่งแบบจำลองที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด คือ แบบจำลองที่ 8 ใช้ในโรงผลิตน้ำบ้านนิคมในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น โดยใช้ทฤษฎี GBT ได้ค่า RMSE เท่ากับ 2.049 ค่า MAE เท่ากับ 1.264 เมื่อนำแบบจำลองทั้ง 10 แบบจำลองมาใช้งาน พบว่า แบบจำลองที่ 1 5 6 และ 7 ใช้ในโรงผลิตน้ำบ้านถ่อน แบบจำลองที่ 2 8 และ 9 ใช้ในโรงผลิตน้ำบ้านนิคม แบบจำลองที่ 3 และ 10 ใช้ร่วมทั้งโรงผลิตน้ำบ้านถ่อนและบ้านนิคม และแบบจำลองที่ 4 ใช้ได้ทั้ง 3 โรงผลิตน้ำเฉพาะฤดูร้อน เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ลดปริมาณการใช้สารส้ม พบว่า แบบจำลองที่ลดปริมาณการใช้สารส้มได้มากที่สุด คือ แบบจำลองที่ 5 และ 7 ใช้ร่วมกันในโรงผลิตน้ำบ้านถ่อน ลดได้ร้อยละ 21.69 ต่อปี หรือ 243,230 บาทต่อปี และตัวแปรที่มีความอ่อนไวต่อแบบจำลองมากที่สุด คือ ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำดิบ ค่าความขุ่นของน้ำดิบ และค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำก่อนกรอง