Abstract:
การกักเก็บสารสำคัญในรูปแบบของอนุภาคลิโพโซม เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากอนุภาคลิโพโซมมีส่วนประกอบที่สามารถเข้ากับร่างกายได้ ไม่มีความเป็นพิษ และสามารถย่อยสลายได้เอง รวมไปถึงช่วยเพิ่มเสถียรภาพของสารที่นำมากักเก็บให้ดีขึ้น วิธีการเตรียมอนุภาคลิโพโซมเพื่อกักเก็บสารเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะต้องคำนึงถึง เพราะจะส่งผลต่อการกระจายตัวและขนาดของอนุภาค รวมไปถึงอัตราการปลดปล่อยของสารและเสถียรภาพความคงตัวของอนุภาคลิโพโซมด้วย งานวิจัยนี้มีความสนใจที่จะศึกษาการเตรียมอนุภาคลิโพโซมสำหรับกักเก็บสารอาร์บูตินด้วยเครื่องโฮโมจิไนเซอร์แรงดันสูง เนื่องจากอาร์บูตินเป็นสารที่มีเสถียรภาพต่ำการกักเก็บสารในรูปแบบของอนุภาคลิโพโซมมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับสารอาร์บูติน การเตรียมอนุภาคด้วยเครื่องโฮโมจิไนเซอร์แรงดันสูงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว สามารถเตรียมอนุภาคลิโพโซมได้ในปริมาณที่มาก อีกทั้งยังมีความต่อเนื่องของกระบวนการโดยไม่ต้องผ่านหลายขั้น โดยวัตถุประสงค์ของงานวิจัยต้องการศึกษาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราส่วนระหว่างฟอสโฟลิพิด คลอเรสเตอรอล และสารอาร์บูติน อัตราการปลดปล่อยของสารอาร์บูตินและเสถียรภาพความคงตัวของอนุภาคลิโพโซม รวมไปถึง สภาวะของเครื่องโฮโมจิไนเซอร์แรงดันสูง ได้แก่ ความดันและจำนวนรอบ ที่ใช้ในการเตรียมอนุภาคลิโพโซมเพื่อกักเก็บสารอาร์บูติน จากการศึกษาพบว่า การเตรียมอนุภาคลิโพโซมที่กักเก็บสารอาร์บูตินด้วยเครื่องโฮโมจิไนเซอร์แรงดันสูง ทำให้ได้ลิโพโซมขนาดเล็กที่มีผนังสองชั้นเพียงชั้นเดียว ซึ่งจะมีขนาดของอนุภาคลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเพิ่มความดันและจำนวนรอบของเครื่องโฮโมจิไนเซอร์แรงดันสูง โดยมีขนาดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 150 ถึง 200 นาโนเมตร ผลการทดลองความเข้มข้นของลิพิดต่อความสามารถในการกักเก็บสารอาร์บูติน พบว่า เมื่อเพิ่มความเข้มข้นโดยรวมของลิพิด ประสิทธิภาพการกักเก็บสารมีค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งมีค่าประสิทธิภาพการกักเก็บสารเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 74.29 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ผลการทดลองยังแสดงให้เห็นว่าการกักเก็บสารสำคัญไว้ในรูปแบบของอนุภาคลิโพโซมและมีการเติมสารคลอเรสเตอรอลลงไปจะสามารถช่วยควบคุมอัตราการปลดปล่อยของสารสำคัญได้ รวมไปถึงช่วยเพิ่มเสถียรภาพความคงตัวให้กับอนุภาคลิโพโซมได้อีกด้วย ดังนั้น สภาวะของเครื่องโฮโมจิไนเซอร์แรงดันสูงและสัดส่วนระหว่างฟอสโฟลิพิดกับคลอเรสเตอรอลที่เหมาะสมในการเตรียมอนุภาคลิโพโซมสำหรับกักเก็บสารอาร์บูติน คือ ความดัน 1000 บาร์ จำนวน 3 รอบ ที่ความเข้มข้นโดยรวมของลิพิดร้อยละ 2 โดยน้ำหนัก อัตราส่วนระหว่างฟอสโฟลิพิดกับคลอเรสเตอรอล 10:2 โดยน้ำหนัก และสภาวะอุณหภูมิในการเก็บรักษาที่ 4 องศาเซลเซียส