Abstract:
การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง จำนวนประชากรและความต้องการในการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น การเข้ามาของแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสาร (Ride-hailing applications: RHA) เข้ามาเป็นตัวเลือกในการเดินทางของผู้คนในปัจจุบัน เนื่องจากมีความสะดวก ง่ายต่อการใช้งาน และมีความน่าเชื่อถือ ทำให้องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับรูปแบบการเดินทางประเภทนี้เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อรองรับการเติบโตของสังคมเมืองในประเทศไทยในอนาคต งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสารในรูปแบบรถยนต์ วัตถุประสงค์ของการเดินทางด้วยบริการนี้ และรูปการเดินทางอื่นที่ถูกแทนที่โดยแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสาร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างของประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยใช้แบบสอบถาม และทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสารกับปัจจัยด้านคุณลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และปัจจัยด้านทัศนคติ โดยใช้แบบจำลองการถดถอยโลจิสติกทวิ (Binary logistic regression) และแบบจำลองการถดถอยโลจิสติกทางเลือกเรียงลำดับ (Ordered logistic regression) จากผลการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อย รายได้สูง และผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนมาอย่างยาวนาน เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะใช้แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสาร และจากการศึกษาระดับความถี่ในการใช้งาน พบว่า การปิดประเทศ ส่งผลให้ระดับความถี่ในการเดินทางด้วยแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสารลดลง อีกทั้งยังปัจจัยด้านอายุที่สูงขึ้น และระดับการศึกษาที่ดีขึ้น ก็ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้งานแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสาร มีความถี่ในการใช้งานที่ลดลง จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ใช้บริการแท็กซี่ ซึ่งแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อโดยสารมีแนวโน้มในการถูกนำมาใช้ทดแทนแท็กซี่ ดังนั้นการกำกับดูแลจึงมีความจำเป็นในการรักษาความเท่าเทียมในการแข่งขัน