Abstract:
ปัจจุบันโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้รูปแบบสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือที่เรียกว่า Public-Private Partnership (PPP) มักประสบปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้าไปจากระยะเวลาสัญญา ทั้งนี้ความล่าช้าในการก่อสร้างอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้เสียของโครงการ ดังนั้นการที่มีเครื่องมือในการติดตามและแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับความเสี่ยงที่เกิดจากความล่าช้าในการก่อสร้าง นับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานประสบความสำเร็จมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการทำวิทยานิพนธ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดจากความล่าช้าในการก่อสร้าง สำหรับโครงการที่ใช้สัญญารูปแบบ PPP และเพื่อประเมินผลกระทบจากความล่าช้าในการก่อสร้างในรูปของตัวเงินต่อผู้มีส่วนได้เสียอันประกอบด้วย เอกชนผู้รับสัมปทาน ภาครัฐเจ้าของโครงการ และภาคประชาชน
โดย Kalman Filter Forecasting Method (KFFM) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพยากรณ์ระยะเวลาก่อสร้างที่คาดว่าจะใช้นับจากปัจจุบันจนโครงการแล้วเสร็จ และระยะเวลาก่อสร้างที่พยากรณ์ได้จะถูกนำไปใช้ในการประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดจากความล่าช้าในการก่อสร้าง โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้
ผลการพยากรณ์ระยะเวลาก่อสร้างของโครงการกรณีศึกษาด้วย KFFM พบว่า ระยะเวลาก่อสร้างที่เป็นไปได้มีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 41.4 เดือน ถึง 54.6 เดือน ซึ่งมากกว่าระยะเวลาก่อสร้างที่ระบุไว้ในสัญญา 39 เดือน เมื่อนำผลการพยากรณ์ระยะเวลาก่อสร้างมาประเมินโอกาสที่โครงการจะก่อสร้างเสร็จภายในระยะเวลาสัญญา พบว่ามีโอกาสสูงสุดที่ร้อยละ 10 เท่านั้น นอกจากนี้ผลการคาดการณ์ระยะเวลาก่อสร้างด้วย KFFM ยังถูกนำมาใช้ประเมินมูลค่าผลกระทบจากความล่าช้าในการก่อสร้างเช่นกัน ทั้งนี้ระยะเวลาก่อสร้างที่คาดการณ์ด้วย KFFM และมูลค่าผลกระทบที่ประเมินได้เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น ไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต อย่างไรก็ตามเครื่องมือที่ได้นำเสนอในวิทยานิพนธ์นี้สามารถนำไปใช้ในการแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงที่เกิดจากความล่าช้าในการก่อสร้างล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงระดับความเสี่ยงในขณะนั้น รวมไปถึงมูลค่าผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการได้