Abstract:
โครงการไมโครกริดแม่สะเรียงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการออกแบบให้มีโหมดการทำงานหลัก 3 โหมด ได้แก่ 1) โหมดเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก 2) โหมดเปลี่ยนผ่าน และ 3) โหมดแยกโดด วิทยานิพนธ์นี้จะให้ความสำคัญในส่วนของการทำงานในโหมดแยกโดดใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การควบคุมระบบแบตเตอรี่ 2) การประสานการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและระบบแบตเตอรี่เพื่อรักษาความถี่ 3) ผลกระทบของระลอกคลื่นแรงบิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลต่อความถี่ของไมโครกริด วิทยานิพนธ์นี้เลือกใช้คอนเวอร์เตอร์ในลักษณะของแหล่งจ่ายแรงดันโดยใช้การควบคุมแบบดรูป – ความเร็วที่จำลองค่าความเฉื่อยทางกลพร้อมทั้งมีระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติทำให้ระบบแบตเตอรี่ทำงานในลักษณะเสมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซิงโครนัส การประสานการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและระบบแบตเตอรี่ใช้การควบคุมแบบดรูป - ความเร็ว การควบคุมความถี่โหลดใช้ในการควบคุมแบบทุติยภูมิเพื่อลดผลกระทบของโหลด และความผันผวนของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลักปฏิบัติทั่วไปจะมีการทำงานของแถบไร้การตอบสนองของการควบคุมแบบทุติยภูมิ การควบคุมความถี่โหลดที่ใช้ในวิทยานิพนธ์นี้ช่วยให้การแบ่งปันโหลดที่เหมาะสมระหว่างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และระบบแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถลดการทำงานของระบบแบตเตอรี่เมื่อเทียบกับการใช้ระบบแบตเตอรี่เพียงลำพัง การตรวจสอบแนวคิดที่นำเสนอจะใช้การจำลองผ่านโปรแกรม DIgSILENT-Powerfactory โดยใช้ข้อมูลโหลดราย 10 วินาที จากกฟภ. และข้อมูลความเข้มแสงอาทิตย์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 4 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เพื่อพิจารณาผลกระทบของระลอกคลื่นแรงบิดจะใช้ข้อมูลจริงของการกระเพื่อมของแรงบิดจากเครื่องยนต์ดีเซล 12 กระบอกสูบ เพื่อลดผลของระลอกคลื่นแรงบิดนี้จะอาศัยการทำงานของวงจรกรองผ่านช่วงความถี่เพื่อตรวจจับระลอกคลื่นแรงบิดที่เกิดขึ้นไปป้อนเป็นสัญญาณให้ระบบแบตเตอรี่จ่ายกำลังไฟฟ้าชดเชย ผลการจำลองแสดงให้เห็นว่าวิธีการควบคุมที่นำเสนอสามารถรองรับการทำงานของไมโครกริดในโหมดแยกโดดได้สำเร็จ ความถี่และแรงดันไฟฟ้าของไมโครกริดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่ กฟภ. กำหนด และผลการจำลองการใช้ระบบแบตเตอรี่ร่วมกับวงจรกรองผ่านช่วงความถี่สามารถลดผลกระทบจากระคลื่นแรงบิดให้อยู่ภายใต้แถบไร้การตอบสนองของการควบคุมแบบทุติยภูมิ