Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอแบ่งกลุ่มพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อการขอความร่วมมือในการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดได้อย่างเหมาะสมด้วยการพิจารณาจากค่าการใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุดและค่าการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดเทียบกับค่าการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลาต่างๆของวันของบ้านหลังนั้นโดยใช้วิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ K-Means และวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ Fuzzy C-Means และมีการจำลองสถานการณ์การดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดแบบ Emergency Demand Response Program จากข้อมูลกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่แบ่งกลุ่มได้ดังกล่าวด้วยการขอความร่วมมือให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เครื่องปรับอากาศโดยเพิ่มอุณหภูมิการใช้เครื่องปรับอากาศเป็น 27°C ในช่วงเวลาที่จำลองสถานการณ์การดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (ช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง 3 ชั่วโมงของวัน) เพื่อการคำนวณการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว จากการวิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจากผลรวมค่าการใช้ไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัยทั้ง 60 หลังในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงตามช่วงเวลาต่างๆ พบว่าสามารถพิจารณาการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง 3 ชั่วโมงของวันได้แก่ 0.15 - 03.15 น., 09.00 - 12.00 น., 13.00 - 16.00 น. และ 20.15 - 23.15 น. ผลลัพธ์การแบ่งกลุ่มพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงได้เป็น 7 กลุ่มที่แตกต่างกัน และวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ K-Means ให้ผลลัพธ์การแบ่งกลุ่มข้อมูลได้ดีกว่าวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ แบบ Fuzzy C-Means เนื่องจากวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ K-Means สามารถจับกลุ่มข้อมูลบ้านอยู่อาศัยที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ที่ดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดที่เหมือนกันให้สามารถมารวมกลุ่มกันได้ทั้งหมด แต่วิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ Fuzzy C-Means สามารถจับกลุ่มข้อมูลบ้านอยู่อาศัยที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ที่ดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดที่เหมือนกัน ให้สามารถมารวมกลุ่มกันเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อพิจารณาการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง 3 ชั่วโมงของวัน ผลการจำลองสถานการณ์ขอความร่วมมือบ้านอยู่อาศัยทั้ง 60 หลังในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงดังกล่าวให้เปิดใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 27°C ซึ่งอยู่ในช่วงอุณหภูมิที่ยอมรับได้ด้านความสะดวกสบายของคนไทยในอาคารพักอาศัยที่มีเครื่องปรับอากาศ พบว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวลงได้ 20.4 เปอร์เซ็นต์, 20.1 เปอร์เซ็นต์, 19.7 เปอร์เซ็นต์ และ 21.3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ