Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความสูญเสียอันได้แก่เวลาและปริมาณของเสียในระหว่างการปรับตั้งเครื่องฉีดในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกในเบาะรถยนต์ โดยงานวิจัยนี้จะทำการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาด้วยแผนภาพแสดงสาเหตุและผล พร้อมทั้งคัดเลือกตัวแปรนำเข้าโดยใช้การวิเคราะห์ลักษณะข้อบกพร่องและผลกระทบ (FMEA) จากนั้นทำการประยุกต์ใช้หลักการออกแบบการทดลองเพื่อหาปัจจัยนำเข้าที่มีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดของเสียประเภทฉีดไม่เต็มและฟองอากาศซึ่งเกิดขึ้นในช่วงของการปรับตั้ง จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดของเสียประเภทฉีดไม่เต็มและฟองอากาศของชิ้นงานพลาสติกปิดด้านหลังเบาะด้านซ้าย ได้แก่ ความดันในการฉีด อุณหภูมิเบ้า และอุณหภูมิพลาสติกหลอมเหลว โดยระดับปัจจัยที่เหมาะสมคือ ความดันในการฉีดเท่ากับ 105 kg/cm2 อุณหภูมิเบ้า 60 °C และอุณหภูมิพลาสติกหลอมเหลว 230 °C โดยเมื่อนำระดับปัจจัยที่เหมาะสมมาทำการปรับใช้ในกระบวนการผลิตชิ้นงานพลาสติกปิดด้านหลังเบาะด้านซ้ายและประยุกต์ใช้กับการผลิตพลาสติกติกปิดด้านหลังเบาะด้านขวา พบว่าปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในช่วงปรับฉีดของชิ้นงานพลาสติกปิดด้านหลังเบาะด้านซ้ายและขวาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปริมาณของเสียประเภทฉีดไม่เต็มที่เกิดในช่วงการปรับฉีดเฉลี่ยลดลงจาก 25 ชิ้น เหลือเพียง 6 ชิ้น ปริมาณของเสียประเภทฟองอากาศที่เกิดในช่วงการปรับฉีดเฉลี่ยลดลงจาก 18 เหลือ 3 ชิ้น ปริมาณของเสียที่เกิดทั้งประเภทฉีดไม่เต็มและฟองอากาศภายในชิ้นงานเดียวกันในช่วงการปรับฉีดเฉลี่ยลดลงจาก 16 เหลือ 3 ชิ้น ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยใช้ค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมในการปรับตั้งเครื่องฉีดพลาสติกยังสามารถช่วยลดเวลาในการทำงานลงได้จาก 48.57 นาที ลดลงเหลือ 17.60 นาที ทำให้โรงงานกรณีศึกษาสามารถผลิตชิ้นงานพลาสติกปิดด้านหลังเบาะด้านซ้ายเพิ่มขึ้นได้ 21 ชิ้นต่อวัน หรือ 420 ชิ้นต่อเดือน และยังพบว่าสามารถลดของเสียในช่วงผลิตจริงได้จาก 1.41% เหลือ 1.16%