Abstract:
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในระบบไฟฟ้ามีการเดินเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าลดลง เนื่องจากการเติบโตและพัฒนาของเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ผู้ประกอบการของโรงไฟฟ้าเดิมในระบบจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการตัดสินใจเรื่องการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า เพื่อคงความสามารถการแข่งขันในธุรกิจ ซึ่งงานวิจัยนี้นำเสนอกรอบความคิดและแบบจำลองการประเมินการลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้า ด้วยหลักการบริหารต้นทุนตลอดอายุ (Life-Cycle Cost Management: LCCM) และนำเสนอการพยากรณ์ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตรายปีของโรงไฟฟ้า โดยคำนึงถึงกรอบและข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมประเภทเพลาผสม (Multi-shaft combined-cycle power plant) ทั้งนี้ตัวแปรที่งานวิจัยเลือกใช้ในการพยากรณ์เป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตของโรงไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ 1) ค่าความร้อนของโรงไฟฟ้า (Heat Rate: HR) 2) จำนวนชั่วโมงการเดินเครื่องเสริมระบบ (Service Hour: SH) 3) สัดส่วนกำลังผลิตของผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer Share: SPP Share) 4) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (Growth Domestic Product: GDP) โดยผลการพยากรณ์ปริมาณพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับคำนวณจำนวนชั่วโมงการเดินเครื่องสะสมเทียบเท่าของกังหันก๊าซ (Equivalent Operating Hour: EOH) ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการประมาณรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและสามารถนำมาใช้พิจารณาเลือกประเภทงานบำรุงรักษาให้สอดคล้องกับรูปแบบการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นเทคนิคหนึ่งในการจัดการต้นทุนเพื่อให้สามารถบริหารได้อย่างต่อเนื่อง