Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) หาสมการที่สามารถทำนายค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ของแวนโคมัยซินที่มีความแม่นยำที่สุดในผู้ป่วยชาวไทยและ(2) นำสมการดังกล่าวมาสร้างโนโมแกรมแวนโคมัยซินที่มีเป้าหมายให้ได้ค่า AUC₂₄/MIC มากกว่าหรือเท่ากับ 400 และมีระดับยาต่ำสุดในเลือดที่ภาวะคงที่ในช่วง 10-20 มิลลิกรัมต่อลิตร การศึกษานี้ทำการเก็บข้อมูลแบบไปข้างหน้าศึกษาในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 18 ปีที่มีค่าขจัดครีเอตินินตั้งแต่ 30 มิลลิลิตรต่อนาทีได้รับยาแวนโคมัยซินและได้รับการเจาะวัดระดับยาในเลือดที่สภาวะคงที่ 2 ครั้ง คือที่ระดับยาสูงสุดและระดับยาต่ำสุดเพื่อนนำมาคำนวณค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์มีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษาจำนวน 51 ราย จำแนกผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ 1 สำหรับหาสมการค่าเภสัชจลนศาสตร์มีจำนวน 36 รายและกลุ่มที่ 2 สำหรับเปรียบเทียบความแม่นยำของสมการทำนายค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์มีจำนวน 15 ราย ผลการศึกษาในผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 พบว่าค่าขจัดยาแวนโคมัยซินสัมพันธ์กับค่าขจัดครีเอตินินจากสมการ Cockcroft-Gault (r=0.60, P<0.01) สามารถสร้างสมการถดถอยอย่างง่ายคือ Ln[CLvanco(ml/min)] = 0.612*Ln[CLcr(ml/min)]+1.55 (R2=0.45, P<0.01) และมีค่าเฉลี่ยปริมาตรการกระจายยาเท่ากับ 0.84 ลิตรต่อกิโลกรัมเมื่อนำสมการดังกล่าวทำนายค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 เปรียบเทียบกับสมการค่าเภสัชจลนศาสตร์ 5 สมการที่ตีพิมพ์ก่อนหน้าได้แก่สมการของ Ducharme, Birt, Burton, Revised burton และ Ambrose พบว่าสมการที่พัฒนาจากการศึกษานี้โดยใช้ข้อมูลของผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 เป็นสมการที่มีความแม่นยำที่สุดโดยค่าขจัดยาแวนโคมัยซินมีค่า ME (95% Cl) เท่ากับ 0.02 (-0.39, 0.43) ลิตรต่อชั่วโมง (P=0.53) และมี RMSE เท่ากับ 0.72 ลิตรต่อชั่วโมงค่าปริมาตรการกระจายตัวมีค่า ME (95% Cl) เท่ากับ 3.87 (-4.31, 12.04) ลิตร (P=0.33) และมี RMSE เท่ากับ 14.77 ลิตร ผู้วิจัยจึงได้เสนอโนโมแกรมที่พัฒนาจากสมการดังกล่าวกำหนดขนาดยาแวนโคมัยซินจากน้ำหนักตัวและค่าขจัดครีเอตินิน อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพื่อประเมินความเหมาะสมของการใช้โนโมแกรมดังกล่าวต่อไปในอนาคต