Abstract:
การสร้างแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์เพื่อประเมินฤทธิ์ต้านเชื้อในห้องปฏิบัติการของยาไทกิชัยคลินต่อเชื้อเคล็บซิลลา นิวโมเนียอี ที่ดื้อยากลุ่มคาร์บาพีเนมใช้ข้อมูลทางเภสัชพลศาสตร์ที่ได้จากกราฟการฆ่าเชื้อกับเวลาในห้องปฏิบัติการแบบจำลองการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการถูกนำมาใช้หากราฟการฆ่าเชื้อกับเวลาของยาไทกิซัยคลินต่อเชื้อเคล็บซิลลา นิวโมเนียอี ที่ดื้อยากลุ่มคาร์บาพีเนม ผลการหาค่า MIC ของเชื้อมีค่าเท่ากับ 1 มคก./มล/. ความเข้มข้นของยาไทกิชัยคลินที่ใช้หากราฟการฆ่าเชื้อกับเวลามีค่าเท่ากับ 0.25, 0.5, 1, 2, 4, 8, 16, 32 และ 64 มคก./มล. ผลกราฟการฆ่าเชื้อกับเวลาพบว่ายาไทกิซัยคลินออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อ (bacteriostatic) ได้ในความเข้มข้น 2, 4, 8, 16, และ 32 มคก./มล. และออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ (bactericidal) ที่ความเข้มข้นของยาไทกิซัยคลินเท่ากับ 64 มคก./มล. รูปแบบสมการที่พัฒนาสร้างขึ้นจำนวน 16 รูปแบบถูกนำมาใช้วิเคราะห์หาแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์โดยโปรแกรม Scientist® ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบสมการแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์แบบพื้นฐานไม่เหมาะที่จะอธิบายผลทางเภสัชพลศาสตร์ได้รูปแบบที่เหมาะสมต้องเพิ่มตัวแปรที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมคือจำนวนเชื้อที่เจริญสูงสุด (Nmax) ค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชพลศาสตร์ที่ได้จากสมการแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์มีค่าดังนี้อัตราคงที่ของการเจริญเติบโตของเชื้อขณะที่ไม่มียา (k0) เท่ากับ 1.25 ชั่วโมง-1 อัตราคงที่ของการฆ่าเชื้อสูงสุด (kmax) เท่ากับ 2.00 ชั่วโมง-1 ค่าความเข้มข้นของยาที่ให้ผลครึ่งหนึ่งของปลการต้านเชื้อสูงสุด (EC50) เท่ากับ 5.00 มคก./มล. และจำนวนเชื้อที่เจริญสูงสุด (Nmax) เท่ากับ 40x1013 CFU/mL ค่าสถิติที่ได้จากแบบจำลองมีค่าดังนี้คือ Model Selection Criteria (MSC) = 0.96 และ r2 = 0.66 ดังนั้นแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์ที่ได้จากกราฟการฆ่าเชื้อกับเวลาจึงเป็นวิธีหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับใช้ประเมินฤทธิ์ต้านเชื้อในห้องปฏิบัติการของยาไทกิซัยคลินต่อเชื้อเคล็บซิลลา นิวโมเนียอีที่ดื้อยากลุ่มคาร์บาพีเนม