Abstract:
ซากดึกดำบรรพ์กลุ่มชีวินหอยน้ำจืดในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียงจังหวัดขอนแก่น จำนวน 5 แหล่ง ได้ถูกขุดค้นและนำมาศึกษา ซากดึกดำบรรพ์หอยน้ำจืดทั้ง 5 แหล่งปรากฏในบริเวณเทือกเขาชั้นในของเทือกเขาภูเวียงเรียงตัวจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ดังต่อไปนี้ แหล่ง PW-M-5 อยู่ทางทิศใต้ของภูน้อยพบซากหอยกาบคู่ในชั้นหินทรายปนกรวดมนเม็ดโคลน แหล่งอื่น ๆ พบบริเวณภูประตีตูหมา ได้แก่ แหล่ง PW-M-1 ซึ่งมีชั้นซากดึกดำบรรพ์หอย 3 ชั้น เรียงจากล่างขึ้นบนดังนี้ ชั้น PW-M-1/1 เป็นชั้นบาง ๆ ของเศษเปลือกหอยอยู่ในชั้นหินทรายเฉียงระดับ ชั้น PW-M-1/2 เป็นชั้นที่พบซากดึกดำบรรพ์หอยกาบคู่หนาแน่นอยู่ในชั้นหินทรายปนกรวด และชั้น PW-M-1/3 พบหอยกาบคู่ในชั้นหินทรายปนกรวดมนเม็ดโคลน แหล่ง PW-M-2 และ PW-M-3 มีลักษณะเหมือนกับแหล่ง PW-M-1/2 สำหรับแหล่ง PW-M-4 พบซากดึกดำบรรพ์หอยกาบคู่ในชั้นหินโคลน และจากลักษณะซากดึกดำบรรพ์หอยกาบคู่ที่ปรากฏในแหล่ง PW-M-4 ลักษณะเม็ดตะกอนที่ละเอียด ร่องรอยของสิ่งมีชีวิต และการติดกันของข้อต่อระหว่างฝาหอยกาบคู่ สามารถอธิบายได้ว่าการเกิดของตะกอนเป็นแบบที่ราบน้ำท่วมถึง ขณะที่แหล่งอื่น ๆ เกิดในลักษณะของแหล่งทับถมร่องน้ำโดยแปลความหมายจากลักษณะเม็ดตะหอนขนาดใหญ่และฝาหอยกาบคู่ที่หลุดออกจากกัน นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษากลุ่มชีวินหอยกาบคู่จากแหล่ง PW-M-1/3 โดยเก็บตัวอย่างหินเป็นก้อนขนาด 25x25x20 เซนติเมตร ซึ่งผลการวิเคราะห์พบซากดึกดำบรรพ์หอยกาบคู่ 9 ชนิด ชนิดที่พบมากที่สุดคือ Unionids gen. et sp. Indet. เป็นซากดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กจำนวนมากแสดงให้เห็นว่ามีการตายในวัยอ่อนมาก จากหลักฐานดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่าซากดึกดำบรรพ์ของหอยเหล่านี้ถูกพัดพามาไม่ไกลจากแหล่งที่อยู่เดิมและเกิดการตกตะกอนทับถมอย่างรวดเร็ว ผลการศึกษาทางอนุกรมวิธานของซากดึกดำบรรพ์หอยกาบคู่ที่พบทั้งสิ้นมีจำนวน 15 ชนิด ประกอบด้วยชนิดที่ตรวจสอบหาชื่อวิทยาศาสตร์ได้ 2 ชนิด คือ Nippononaia mekongensis และ Unio sp. Cf. U. samplanoides ชนิดที่ไม่สามารถตรวจสอบหาชื่อสกุลได้ 6 ชนิด และ ที่ไม่สามารถจัดกลุ่มได้เนื่องจากขาดลักษณะสำคัญที่ใช้ในการจัดจำแนก 7 ชนิด