Abstract:
ศึกษาค่าใช้จ่ายและตัวกำหนดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานที่ให้แสงสว่างของครัวเรือนไทย โดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2547 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่างคือ ครัวเรือนไทยจำนวน 34,843 ครัวเรือนที่ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบ 2 ชั้น สำหรับคุณลักษณะทั่วไปของครัวเรือนตัวอย่าง พบว่า ครัวเรือนตัวอย่างมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 3 คน และประมาณ 2 ใน 3 เป็นครัวเรือนนอกเขตเทศบาล โดยครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนสูงที่สุด และหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา สำหรับลักษณะทางเศรษฐกิจพบว่า ครัวเรือนตัวอย่างมีรายได้ของครัวเรือนโดยเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน แต่ครัวเรือนเกือบครึ่งหนึ่งมีจำนวนหนี้สินครัวเรือนสูงกว่า 20,000 บาท มีจำนวนอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานในครัวเรือนโดยเฉลี่ย 18 รายการ มีห้องภายในที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ยจำนวน 3 ห้อง และส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่พำนักในบ้านที่เป็นของตนเอง ผลการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานที่ให้แสงสว่างของครัวเรือน พบว่า ครัวเรือตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ย 1,050 บาทต่อเดือน ประมาณ 2 ใน 5 ของครัวเรือน ตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไม่เกิน 500 บาท และพลังงานที่ครัวเรือนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงที่สุดคือ น้ำมันเบนซิน ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์การจำแนกพหุพบว่า ในระดับ 2 ตัวแปร ตัวแปรอิสระทุกตัว (ยกเว้นตัวแปรจำนวนหนี้สินของครัวเรือน) มีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนในทิศทางที่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ และมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ในระดับหลายตัวแปร ยังคงพบว่าตัวแปรอิสระทุกตัว (ยกเว้นตัวแปรระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน) มีทิศทางความสัมพันธ์เหมือนกับความสัมพันธ์ในระดับ 2 ตัวแปรและมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ตัวกำหนดทางเศรษฐกิจสามารถอธิบายความแปรผันของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน ได้ดีกว่าตัวกำหนดทางประชากรและสังคม (ค่า R (ยกกำลัง 2) เท่ากับ 0.447 เปรีบเทียบกับ 0.270) อย่างไรก็ดี ตัวกำหนดทางประชากรและสังคม และตัวกำหนดทางเศรษฐกิจ ร่วมกันอธิบายความแปรผันของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนได้ 48.4% (ค่า R (ยกกำลัง 2) เท่ากับ 0.484)