Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากระบวนการกลับคืนถิ่นฐานโดยความสมัครใจ เพื่อศึกษาสาเหตุและผลกระทบที่เกิดจากความล่าช้า รวมทั้งนำเสนอข้อท้าทาย โอกาส และข้อเสนอเชิงนโยบาย มีกรอบการศึกษาช่วงระยะเวลาสถานการณ์พัฒนาเชิงบวกจนถึงก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โรคโควิด 19 ในปี ค.ศ. 2020 โดยมีสมมติฐานว่านโยบายของ รัฐไทย รัฐเมียนมา และUNHCR ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้หนีภัยฯ ในการกลับประเทศต้นทางโดยความสมัครใจ ซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายรัฐที่ตั้งอยู่บนกรอบแนวคิดเรื่องรัฐชาติและความมั่นคงแห่งชาติ จึงเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น การศึกษาพบว่า รัฐไทยพยายามผลักดันให้เกิดการกลับประเทศต้นทางโดยสมัครใจ แต่ในขณะที่รัฐเมียนมายังไม่มีความชัดเจน ไม่ได้มีโครงสร้างสถาบันรองรับแนวทางเพื่อไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง และยังไม่สามารถขจัดสาเหตุความขัดแย้งระหว่างรัฐและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย รวมทั้งไม่ได้มีนโยบายรัฐในระยะยาวที่ตอบรับการกลับประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้ง UNHCR ไม่สามารถผลักดันเร่งรัดการทำงานของรัฐไทยและเมียนมาให้เกิดความร่วมมือได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดการยืดเยื้อต่อไป และอาจเป็นเพียงโครงการนำร่องที่ไม่ได้เกิดผลการกลับประเทศต้นทางอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาสวัสดิภาพความมั่นคงของมนุษย์สำหรับผู้หนีภัยฯ ไม่มีประสิทธิผล ประชากรกลุ่มนี้ยังมีความกังวลใจ และมีความไม่มั่นคง (ทางร่างกาย กฎหมาย วัตถุ และสังคมและจิตใจ) ข้อเสนอของผู้วิจัย คือ ปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส ปรับรื้อระดับโครงสร้างนโยบายต่อผู้หนีภัยฯ จากมุมมองเก่าในการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐเป็นสำคัญ สู่ความมุ่งมั่นใหม่ในการยกระดับการพัฒนาความมั่นคงมนุษย์อย่างยั่งยืน ยืนยันท่าทีจากคำมั่นที่รัฐไทยให้ไว้ต่อประชาคมระหว่างประเทศ สนับสนุนอาเซียนในการคลี่คลายวิกฤติการณ์เมียนมาในปัจจุบัน รวมทั้งหาทางออกที่คำถึงถึงปัจเจกในประเด็นการให้สัญชาติ และการจัดการที่ครอบคลุมในเรื่องพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง