Abstract:
ตั้งแต่ปี 1990 - 2020 ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเชิงลบต่อการใช้ความรุนแรงต่อแม่บ้านข้ามชาติ และปัญหาสวัสดิการขั้นพื้นฐานในการคุ้มครองแม่บ้านข้ามชาติ ปรากฏบนสื่อทั้งในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอินโดนีเซีย และกระทบภาพลักษณ์เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองที่มีฐานะด้อยในสังคม สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษา การจัดระเบียบแรงงานแม่บ้านชาวอินโดนีเซียในสิงคโปร์ โดยใช้กรอบแนวคิดเรื่องการควบคุมโดยรัฐ เพื่ออธิบายการตอบสนองของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อแรงกดดันของรัฐบาลอินโดนีเซียและภาคประชาสังคมในสิงคโปร์ ผลการศึกษาพบว่า ตลอด 3 ห้วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ตอบสนองข้อเรียกร้องดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขสวัสดิการขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. การว่าจ้างแรงงานต่างชาติ และเพิ่มบทลงโทษในประมวลกฎหมายอาญาต่อนายจ้างที่ละเมิดสิทธิของแรงงานต่างชาติ โดยการตอบสนองของรัฐบาลสิงคโปร์นั้นเป็นเพราะรัฐบาลตระหนักว่าแรงงานแม่บ้านต่างชาติเป็นแรงงานนอกระบบ (informal sector) ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ หากรัฐบาลไม่ปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย ปัญหานี้อาจลุกลามเป็นปัญหาระหว่างประเทศ กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในระยะยาว กระนั้น การปรับปรุงกฎระเบียบของรัฐบาลสิงคโปร์ก็จำกัดเฉพาะกฎหมายภายในประเทศ และต้องไม่เป็นปัญหาที่นายจ้างสิงคโปร์แบกรับไม่ไหว รวมทั้งหลีกเลี่ยงข้อตกลงระหว่างประเทศกับอินโดนีเซีย ที่อาจกระทบต่อความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายภายใน