Abstract:
บังกลาเทศถูกจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องโหว่ต่อการเกิดผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนมากที่สุดทั้งจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การละลายของยอดน้ำแข็ง น้ำท่วม พายุไซโคลน คลื่นกระทบชายฝั่ง เนื่องจากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อีกทั้งต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนประชากรหนาแน่นและปัญหาความยากจนส่งผลให้ประเทศดังกล่าวต้องทุกข์ทรมานกับความเสียหายและความสูญเสียมาอย่างเนิ่นนาน ในปี ค.ศ.1991 ยูเสดรายงานว่า พายุไซโคลนมาเรี่ยนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากพื้นที่ประสบภัยกว่า 139,000 คน รวมทั้งตัวเลขผู้บาดเจ็บจำนวนเทียบเท่ากัน สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสาเหตุเรื้อรังในบังกลาเทศมาอย่างยาวนาน แม้ว่ารัฐบาลบังกลาเทศพยายามที่จะดำเนินนโยบายแก้ปัญหาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงบั่นทอนความพยายามในการพัฒนาประเทศอยู่พอสมควร งานวิจัยชิ้นนี้จึงต้องการมุ่งเน้นถึงบทบาทของสถาบันคลังสมองในบังกลาเทศ โดยสถาบันเหล่านี้ได้นิยามตนเองว่าเป็นสถาบันเชิงวิจัยและนโยบาย มีความเป็นเอกเทศ มิแสวงหากำไร และเปรียบเสมือนผู้สนับสนุนเชิงนโยบายให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติทั้งหลาย แม้ว่าสถาบันเหล่านี้ไม่มีอำนาจที่จะสั่งการเชิงนโยบายแบบเดียวกับบรรดารัฐมนตรีและผู้บริหารบ้านเมือง แต่สถาบันเหล่านี้มุ่งเข้าไปมีบทบาทต่อนโยบายการจัดการกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในบังกลาเทศจากความเป็นแกนกลางในฐานะผู้เผยแพร่บรรทัดฐานระหว่างประเทศ และจากพลังแห่งองค์ความรู้เพื่อให้ประเทศบังกลาเทศสามารถหลุดพ้นไปจากหนึ่งในประเทศที่มีช่องโหว่ต่อการเกิดผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดโดยการสนับสนุนเชิงนโยบายให้กับผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศส่งผลให้บังกลาเทศเริ่มมีทิศทางการจัดการกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในปัจจุบัน