Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษากระบวนการจัดส่งแรงงานหมอนวดหญิงไทยข้ามชาติที่มีการขูดรีดแรงงานภายในห่วงโซ่อุปทานการค้าแรงงานหญิง ซึ่งเป็นผลทำให้แรงงานดังกล่าวต้องเผชิญกับสภาวะความเปราะบางในด้านต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ในเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2004 – 2021 สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า แรงงานหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานนวดในเกาหลีใต้ถูกขูดรีดและตกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการค้ามนุษย์ในเกาหลีใต้ได้อย่างไร โดยสารนิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ แรงงานหญิงไทยที่เคยเป็นหมอนวดในเกาหลีใต้ จำนวน 15 คน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ จำนวน 3 คน โดยใช้แนวคิดของ Rhacel Salazar Parreñas เกี่ยวกับการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศชายและเพศหญิงในระดับโลกที่ยึดโยงอยู่กับห่วงโซ่อุปทานการค้าแรงงานหญิง เป็นกรอบความคิดหลัก โดยผลการศึกษาพบว่า การแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานนวดในเกาหลีใต้นั้นซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายตัวแสดง รวมทั้งการขูดรีดแรงงานและการค้ามนุษย์สามารถเกิดขึ้นทั้งในประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน ประเทศปลายทาง และสามารถเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการในเวลาเดียวกันได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่า เครือข่ายนายหน้าจัดหางานข้ามชาติล้วนมีส่วนช่วยในการสร้างแรงดึงดูดแรงงานหญิงไทยให้เดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายได้ง่ายและสะดวกกว่าการเดินทางไปทำงานโดยผ่านกระบวนการจัดส่งแรงงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานนวด เราต้องนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากกลุ่มแรงงานหมอนวดหญิงไทยมาเป็นแนวทาง นอกจากนี้ ควรมีการจัดสรรโควตาแรงงานไทยอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิง การเสนอให้อาชีพนวดถูกกฎหมายสำหรับแรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดในการดำเนินคดีกับนายจ้างหรือนายหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์